ห้องเรียนพหุวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นของสังคมที่เปิดกว้าง

        โรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นเพื่อช่วยรองรับให้เด็กที่เดินทางตามผู้ปกครองที่ต้องย้ายถิ่นพำนักหรือทำงานที่ต่างประเทศได้เรียนในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องในช่วงการศึกษาระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ระดับชั้นประถมจนกระทั่งถึงระดับชั้นมัธยม แน่นอนว่าเมื่อโรงเรียนต้องรองรับเด็กที่มาจากหลายเชื้อชาติ  โรงเรียนนานาชาติจึงมีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมขนาดย่อมไปโดยปริยาย 

        กล่าวโดยย่อ “สังคมพหุวัฒนธรรม” (Multicultural Society) หมายถึงสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางสังคม แนวคิด มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ศาสนา ภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ เป็นต้น โดยกลุ่มชนแต่ละกลุ่มมีความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกันได้โดยสันติ ด้วยการพึ่งพาอาศัย เคารพ ไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน ซึ่งไม่ต่างจากสังคมในโรงเรียนนานาชาติเช่นกัน 

โรงเรียนนานาชาติ

        การเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาตินอกจากหลักสูตรที่ใช้เป็นมาตรฐานตามกำกับของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนนานาชาติทุกแห่งควรต้องสร้างบรรยากาศความเสมอภาค ส่งเสริมเจตคติเชิงบวกให้เกิดขึ้นในห้องเรียนพหุวัฒนธรรม เพื่อให้เด็ก ๆ ที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้เรียนรู้เรื่องความเสมอภาค ให้การยอมรับกัน อยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและสันติสุข ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมที่เปิดกว้างในอนาคต

ห้องเรียนพหุวัฒนธรรม

        แน่นอนว่าห้องเรียนพหุวัตนธรรมเป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้อาจทำให้เด็กนักเรียนเกิดความวิตกกังวลซึ่งมีผลต่อจิตใจ อารมณ์ ตลอดจนการแสดงออก ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจนกระทั่งถึงบรรยากาศในห้องเรียน จึงต้องคำนึงถึงหลักในการลดความกังวลของเด็กนักเรียน ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสันติ ดังนี้

  1. ความเสมอภาค ในห้องเรียนต้องสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเสมอภาค เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดว่า เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิและโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ การใช้ภาษาต้องคำนึงถึงความหลากหลาย หรืออย่างน้อยใช้ภาษาที่เป็นสากลที่สุด ในโรงเรียนต้องมีพื้นที่ที่สามารถตอบสนองต่อความหลากหลายของวัฒนธรรม เช่น ห้องปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงออก โดยต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ของนักเรียน เพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกันและยอมรับในความแตกต่าง
  2. ความยุติธรรม ในห้องเรียนต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย กฎกติกาต่าง ๆ ควรมาจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีการสอนที่ยึดหลักความยุติธรรม โดยส่งเสริมให้นักเรียนทั้งชั้นมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับความเห็นของแต่ละคน รวมทั้งการเห็นต่างด้วย
ห้องเรียนพหุวัฒนธรรม

ทัศนคติเชิงบวก ห้องเรียนพหุวัฒนธรรมต้องมีส่วนในการปรับทัศนคติการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยการส่งเสริมให้เด็ก ๆ คิดร่วมกันและตระหนักว่าไม่ว่าจะเชื้อชาติใด มีความแตกต่างกันก็สามารถเป็นเพื่อนกัน  อยู่ร่วมกัน และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เป็นต้น  

นอกจากนี้ควรใช้สื่อเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงเนื้อหากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสิ่งที่อยู่นอกเหนือตำราเรียน เพื่อเปิดประสบการณ์ให้เด็ก รวมทั้งมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้แสดงศักยภาพตามความถนัด และกิจกรรมที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งจะส่งผลสามารถยอมรับกันและกันได้ 

เพื่อให้ห้องเรียนพหุวัฒนธรรมบรรลุการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและสันติ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้แสดงออก มีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ จึงนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมเจตคติที่ดีโดยมีหลักได้แก่

  1. กระตุ้นให้เด็กร่วมแสดงความคิดเห็น อาจจะเป็นขั้นตอนการเลือกหัวข้อเรื่องหรือหัวข้อกิจกรรม โดยให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เคยมีต่อเรื่องนั้น ๆ 
  2. ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมแก้ไขปัญหา หาทางดำเนินการด้วยวิธีการที่หลากหลายตามความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เด็กแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์เมื่อพบสถานการณ์ที่เป็นปัญหา อันจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขด้วยสันติวิธี
กิจกรรมห้องเรียนพหุวัฒนธรรม

ร่วมแลกเปลี่ยนความเข้าใจทางวัฒนธรรม เป็นขั้นที่เด็กจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเพื่อน ๆ เช่น ภาษา แนวความคิดในชั้นเรียน โดยการทำงานร่วมกัน เป็นการส่งเสริมให้เด็กเข้าใจ ยอมรับความแตกต่าง  ไม่รู้สึกแบ่งแยก

ร่วมสร้างความกลมเกลียวในความหลากหลาย โดยการส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้ปกครองเพื่อขยายสังคมของเด็กให้กว้างออกไป ในกรณีที่พบปัญหาคุณครูควรให้คำแนะนำให้เด็กแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

ขยายความรู้ด้วยการจัดการ เป็นขั้นตอนให้เด็กนำเสนอผลงานผ่านการจัดการในรูปแบบต่าง ๆ และมีส่วนร่วมประเมินสิ่งที่ได้เรียนรู้ รวมทั้งมีการสำรวจความเห็นของผู้ปกครอง การมีส่วนร่วมประเมินผลเป็นกลวิธีที่จะช่วยสอนให้เด็กรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความเคารพ

ให้เด็กได้นำเสนอผลงานต่าง ๆ แก่คุณครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน โดยคุณครูต้องเป็นผู้วางแนวทางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เด็กยอมรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อน และรับข้อควรปรับปรุงอย่างสันติ

กิจกรรมห้องเรียน

        เมื่อสังคมเล็ก ๆ อย่างเช่นในห้องเรียนพหุวัฒนธรรม โดยคุณครูเป็นผู้กระตุ้นและให้แนวทาง ให้เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้คนที่มีความแตกต่างกันด้วยความเข้าใจ แบ่งปัน เอื้ออาทร และเปิดกว้างแล้ว แน่นอนว่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีให้เด็กได้ออกไปสร้างสรรค์สังคมที่เปิดกว้างต่อไปในอนาคต   

        อีกหนึ่งเรื่องสำคัญของโรงเรียนคือความปลอดภัยของข้อมูลของเด็ก คุณครู เจ้าหน้าที่ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงข้อมูลจากการค้นหา (Search) การโพสต์ข้อความต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย  NT Netlog คือบริการที่ช่วยออกแบบวิธีการและดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log) ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ช่วยสถานศึกษาสามารถรวบรวมข้อมูลการการจราจรทางคอมพิวเตอร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในระบบได้ จุดเด่นคือสามารถลดค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาในการจัดหาระบบ Log โดยไม่ต้องลงทุนจัดหาระบบเพื่อการจัดเก็บ Log File รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์ข้อมูล (Log File Analysis) เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงผู้กระทำผิดได้อีกด้วย

        สนใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ NT ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ NT Contact Center โทร. 1888 หรือ https://nt-metro-service.com/nt-education-solution-expert/ *เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น

ที่มาข้อมูล: https://so04.tci-thaijo.org/index.php/eduku/article/view/97519

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup