ภายในห้องเรียนทุกห้องเรียนถือได้ว่าเป็นสังคมกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ทุกคนในห้องเรียนมักเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ระหว่างกันไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามเช่น การใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นต้น ไม่เว้นแม้กระทั่งห้องเรียนที่มีกลุ่มเด็กพิเศษอยู่ด้วย ซึ่งคุณครูจะต้องชี้แนะ สั่งสอน และสื่อสารให้ชุมชนในห้องเรียนมีความเข้าใจในธรรมชาติของน้องกลุ่มนี้ ผ่านการเอาใจใส่ กระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงช่วยสร้างประสบการณ์ทางสังคมในด้านต่าง ๆ ร่วมกันด้วย
ลักษณะเด็กพิเศษ
“เด็กพิเศษ” (Special Child) หรือคำเต็มคือ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แบ่งเด็กกลุ่มดังกล่าวออกเป็น 9 ประเภทคือ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เด็กพิการซ้ำซ้อน และเด็กออทิสติก
เด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภทมีลักษณะอาการ พฤติกรรม และแนวทางในการให้การศึกษาที่แตกต่างกัน ในที่นี้จะกล่าวเพียง 3 กลุ่มคือ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กออทิสติก และเด็กสมาธิสั้น เท่านั้น
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability)
เป็นเด็กที่มีภาวะที่สมองหยุดพัฒนาหรือพัฒนาอย่างไม่สมบูรณ์ ทําให้เกิดความบกพร่องของทักษะด้านต่าง ๆ ในระยะพัฒนาการ และส่งผลกระทบต่อระดับเชาวน์ปัญญาทุก ๆ ด้าน เด็กที่มีภาวะความบกพร่องทางสติปัญญา ประกอบด้วย ลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ (1) เด็กจะมีความสามารถทางสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยมีระดับเชาว์ปัญญา หรือ IQ ต่ำกว่า 70 (2) เด็กจะมีความบกพร่อง หรือไม่สามารถปรับตัวในชีวิตประจำวัน (เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในสังคมที่ใกล้เคียงกัน) อย่างน้อย 2 ใน 10 ด้าน คือ การสื่อสาร การดูแลตนเอง การใช้ชีวิตในบ้าน การเข้าสังคมกับผู้อื่น การใช้ทรัพยากรในชุมชน การควบคุมตนเอง ทักษะการเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง การทำงาน สุขอนามัย และความปลอดภัยในชีวิต และ (3) มีอาการดังกล่าวก่อนอายุ 18 ปี
สำหรับน้องกลุ่มนี้การใช้คำพูดของคุณครูมีความสำคัญมากอย่างยิ่ง คุณครูต้องใช้คำพูดในเชิงบวก ไม่ใช้คำสั่งที่ยาวเกินไป ไม่ควรบอกให้น้องเลือกอะไร เช่น ดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก แต่เป็นการแนะนำให้น้องสามารถตัดสินใจเพื่อเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้
พฤติกรรม
- มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากพัฒนาการทางภาษาที่ไม่ดี
- ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ค่อยดีนักสืบเนื่องจากปัญหาด้านภาษา และการสื่อสาร
- มีลักษณะเพ้อฝัน พูดมาก พูดกับตัวเอง
- มีความซน สมาธิสั้น หุนหันพลันแล่น
แนวทางการดูแลสำหรับคุณครู
คุณครูหรือผู้ดูแลสามารถนำเทคนิค 3R มาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกสนใจการเรียน ได้แก่ การสอนซ้ำ ๆ (Repetition) ทบทวนบ่อย ๆ สอนสั้น ๆ และง่าย สอนแบบผ่อนคลาย (Relaxation) ไม่เคร่งเครียด ดัดแปลงการสอนเป็นการเล่น เช่น การร้องเพลง เล่นเกม สุดท้ายคือต้องสอนเป็นประจำต่อเนื่อง (Routine) มีความสม่ำเสมอ คุณครูต้องทำตัวอย่างให้เด็กดูหลาย ๆ ครั้ง ผ่านการใช้ภาษาพูดที่ชัดเจน
ส่วนในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการเรียนจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมโดยแยกย่อยเนื้อหาสอนทีละขั้นตอน, ด้านสังคมต้องฝึกให้เล่นกับเพื่อน เพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติตัวทางสังคม รู้จักการรอคอย, ด้านพฤติกรรมเน้นการให้ความสำคัญของการฝึกฝนทักษะทางสังคมต่าง ๆ และการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญสำหรับการดูแลน้องที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คือ การเปิดโอกาสให้น้องได้แสดงออกอย่างเท่าเทียม เพื่อลดความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม สามารถดํารงชีวิตตามปกติในสังคมได้ มีความนับถือตนเองสูงขึ้น และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะด้านอื่นต่อไป
เด็กออทิสติก (Autistic Disorder)
โรคออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ทักษะทางภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ ไม่ยืดหยุ่น ในประเทศไทยพบคนที่เป็นออทิสติก 18,220 คน ระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ถ้าตรวจพบและได้รับการบำบัดในช่วงก่อนอายุ 5 ปี จะได้ผลดีต่อการส่งเสริมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตปกติแบบคนทั่วไป (กรมสุขภาพจิต, 3 เมษายน 2561, https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27771)
พฤติกรรม
โดยปกติเด็กออทิสติกมักจะมีความผิดปกติที่รุนแรง 3 ด้านด้วยกัน คือ
- พัฒนาการด้านสังคม ได้แก่ ไม่มองสบตา ไม่ชอบการโอบกอด แยกตัวออกจากกลุ่ม มองผ่านหรือมองคนอื่นเหมือนไม่รู้ว่ามีคนอยู่ ไม่ชอบเลียนแบบการเล่นของคนอื่น ซนผิดปกติ หรือนั่งนิ่งผิดปกติ หัวเราะหรือร้องไห้ไม่หยุด
- พัฒนาการด้านสื่อความหมาย ได้แก่ ไม่สามารถพูด หรือออกเสียงเป็นคำที่มีความหมาย ไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนา ไม่ตอบสนองเสียงเรียก
- พฤติกรรมแปลก ๆ ซ้ำ ๆ ได้แก่ ชอบหมุนวัตถุ สะบัดมือ กระดิกนิ้วมือ วิ่งถลาไปข้างหน้าอย่างเร็ว นั่งโยกตัว เดินเขย่งปลายท้าย หมุนตัวไปมา จ้องมองวัตถุนาน ๆ
แนวทางการดูแลสำหรับคุณครู
จุดมุ่งหมายของการสอนของเด็กออทิสติกนั้น คือการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมพัฒนาการ ความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมให้ได้ กิจกรรมในชั้นเรียนที่สำคัญสำหรับน้อง คือ “การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา” ที่มีบทบาทส่งเสริมการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โปรแกรมการสอนในห้องเรียนที่น่าสนใจ คือ โปรแกรม TEACCH (Treatment and Education of Autistic and related Communication Handicapped Children) พัฒนาโดย Dr. Eric Schopler เน้นการสอนอย่างมีระบบ ขั้นตอน และการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็กเป็นหัวใจสำคัญ โดยมีการจัดห้องเรียนให้เป็นระบบ จัดของให้เป็นหมวดหมู่ จัดตารางเวลากิจกรรมต่าง ๆ ที่แน่นอน และมีความคาดหวังที่ชัดเจน ทำให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง และสอนอย่างมีขั้นตอน วิธีการสอนจะเน้นใช้ภาพมากกว่าเสียง สอนให้สื่อสารโดยใช้รูปหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เนื้อหาจะครอบคลุมในทักษะทุกด้าน แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ (psu.ac.th)
เด็กสมาธิสั้น (ADHD, Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
โรคสมาธิสั้น คือ ภาวะผิดปกติทางจิตเวชที่ส่งผลให้มีสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ พบได้ค่อนข้างบ่อยในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 3 – 7 ปี แต่ในรายที่เป็นไม่มาก อาการจะแสดงออกชัดเจนกว่าในช่วงหลัง 7 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียน มีงานและการบ้านต้องรับผิดชอบหลาย ๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและคุณครู รวมไปถึงการที่จะต้องรู้จักปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและการเข้าสังคม โดยสาเหตุแท้จริงนั้นไม่สามารถทราบได้ชัดเจน ดังนั้นในการวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จำเป็นต้องอาศัยการซักประวัติอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกายในบางกรณี เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าเด็กจะเป็นโรคสมาธิสั้น ควรพาน้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างจริงจัง
แนวทางการดูแลสำหรับคุณครู
ปัญหาที่มักจะพบเมื่อมีน้องเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ร่วมในห้องเรียนก็คือ การรบกวนในห้องเรียน เดินไปเดินมา อยู่ไม่นิ่ง ขยับตัวไปมา ทำเสียงโวยวายหงุดหงิด หรือ รบกวนเพื่อน แกล้งเพื่อน จะมีภาวะของสารเคมีในสมองที่หลั่งผิดปกติ มีพลังเยอะ เป็นเด็กที่ตื่นตัวตลอดเวลา เวลาคุณครู/ผู้ดูแลสั่งงาน จึงต้องให้ขอบเขตและกติกาอย่างชัดเจน โดยตัวอย่างแนวทางที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้กับห้องเรียน ได้แก่
- จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก และเด็กในชั้นเรียนไม่ควรเกิน 20 คน
- หลีกเลี่ยงการตกแต่งห้องเรียนด้วยสีสันสดใส เนื่องจากทำให้น้องสนใจสิ่งเร้านั้นมากกว่าสิ่งที่ครูสอน
- จัดทำกฎระเบียบที่ชัดเจน มอบหมายงานหรือหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน และทบทวนข้อตกลงบ่อย ๆ
- จัดระบบการเรียนการสอนไม่ให้ซับซ้อน มีตารางเรียนแน่นอน หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งให้น้องทราบและเตือนความจำทุกครั้ง
- ไม่ควรใช้วาจาตำหนิ หรือ ทำโทษ ประจานน้องต่อหน้าเด็กคนอื่น เมื่อน้องทำความผิด ใช้วิธีการตัดคะแนน ลดเวลาพัก ทำความสะอาดห้อง
- ให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเชยเมื่อน้องทำดี ส่งงานตรงตามกำหนด เพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นประสบความสำเร็จในการเรียนตามศักยภาพ เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
- จัดเพื่อนช่วยดูแลเด็กสมาธิสั้นโดยต้องเป็นเด็กที่เข้าใจกัน คอยเตือนความจำ สอนการบ้าน ช่วยชี้แนะสิ่งที่ถูก
โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ
รัฐบาลกำหนดให้มีการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษหลายช่องทาง อาทิ การจัดการศึกษาแบบโรงเรียนเฉพาะความพิการ การจัดการศึกษาโดยศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 13 แห่ง ประจำเขตการศึกษา เป็นรูปแบบการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่เด็กพิการและครอบครัว และเตรียมความพร้อมแก่เด็กพิการวัยก่อนเข้าเรียน หรือผู้พิการภายหลัง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเรียนรวม การจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นต้น
ปัจจุบันโรงเรียนเด็กพิเศษมีครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด และมีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้อง เหมาะสมกับความต้องการของเด็กพิเศษแต่ละด้านมากยิ่งขึ้น โรงเรียนเด็กพิเศษบางแห่งสามารถเรียนร่วมกับนักเรียนปกติทั่วไปได้ และหลาย โรงเรียนก็พร้อมต้อนรับเด็กพิเศษมากขึ้นเช่นกัน แต่ละแห่งไม่เพียงรองรับแค่เด็กระดับประถมเท่านั้น บางแห่งยังรองรับถึงระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยบางแห่งรองรับการเรียนระดับปริญญาตรีเลยทีเดียว
ค้นรายชื่อโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษทั่วประเทศได้ที่นี่ https://th.theasianparent.com/special-child-school-in-thailand
การสนับสนุนให้เด็กพิเศษสามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มศักยภาพของตนเอง และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมนั้นต้องผ่านการดูแลและเอาใจใส่ทั้งจากครอบครัวและในห้องเรียนอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน สามารถส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักการ “เรียน ย้ำ ซ้ำ ทวน” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสติปัญญา ผ่านการถูกกระตุ้นด้วยการฝึกฝนซ้ำ ๆ ผ่านสื่อการเรียนในรูปแบบออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่
NT ให้บริการโซลูชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สำหรับหน่วยงานการศึกษาอย่างครบวงจร ตั้งแต่ให้บริการวางแผน นำเสนอโซลูชัน ออกแบบระบบ ติดตั้ง ทดสอบ การดูแลหลังการขายตลอด 24/7 รวมถึง Maintenance Service Agreement (MA) คือการดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์ ICT รวมไปถึงระบบให้สามารถพร้อมใช้งาน และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ ICT และอุปกรณ์ต่าง ๆ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของ NT ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ NT Contact Center โทร. 1888 หรือ https://nt-metro-service.com/nt-education-solution-expert/ *เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
ที่มาข้อมูล