เพิ่มศักยภาพ Smart Government ด้วยผลิตภัณฑ์จาก NT

            เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการและการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้มีการตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะออกเป็นกรอบระยะเวลา เริ่มจากปีพ.ศ. 2561-2562 ที่กำหนดให้มีเมืองอัจฉริยะ 10 เมือง ใน 7 จังหวัด ปีพ.ศ. 2562-2563 กำหนดให้มีเมืองอัจฉริยะ 30 เมือง ใน 24 จังหวัด ปีพ.ศ. 2563-2564 กำหนดให้มีเมืองอัจฉริยะ 60 เมือง ใน 30 จังหวัด และ ปีพ.ศ. 2565 จะมีเมืองอัจฉริยะ 100 เมือง ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร [1] 

            Smart City เป็นกรอบแนวคิด (Framework) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการเมืองโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรของเมือง เน้นการออกแบบที่ดี การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ การส่งมอบบริการที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนเป็นประโยชน์อันสูงสุดที่คำนึงถึง

            การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City มีการแบ่งรายละเอียดให้หลายมุมมอง โดยมุมมองที่นิยมใช้กันมากเพราะมีความครอบคลุมและง่ายต่อการทำความเข้าใจคือ การพัฒนา 7 ด้านประกอบไปด้วย 1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)  บทความนี้ ขอนำเสนอรายละเอียดในส่วนของมิติการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ หรือ Smart Governance เป็นประเด็นสำคัญ และก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของ Smart Governance ยังมีอีกหนึ่งคำที่ควรทำความเข้าใจด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน นั่นคือ Smart Government 

Smart Government ต่างกับ Smart Governance อย่างไร [2] 

            Smart Government คือ การที่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ภายในองค์กรของตน โดยมีวัตถุประสงค์ทำให้การบริการจัดการภายในหน่วยงานมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐโดยง่ายและสะดวก ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของตนเองเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาต่อไป

            ส่วน Smart Governance นั่นหมายถึง ขีดความสามารถขององค์กรที่จะสามารถเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการองค์กรโดยใช้ข้อมูลที่ได้รับ เช่น ข้อมูลการร้องเรียน ข้อมูลความคิดเห็นต่อการทำงานของหน่วยงานผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อมูลการซื้อขายสินค้า หรือข้อมูลความผูกพันในองค์กร เป็นต้น มาวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้มากที่สุด

            การที่จะพัฒนาให้เกิด Smart Governance นั้น องค์กรหรือหน่วยงานมีความจำเป็นต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กรก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยในการวิเคราะห์ภาพรวม และทำให้มั่นใจได้ว่า ความต้องการ เงื่อนไข และทางเลือกของผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการประเมินเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่หน่วยงานหรือประเทศต้องการ ให้บรรลุซึ่งความสมดุลและเห็นชอบร่วมกัน มีกำหนดทิศทางผ่านการจัดลำดับความสำคัญของการบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการตัดสินใจ และมีการเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน และการปฏิบัติตาม เทียบกับทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ได้มีการตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลักร่วมกัน

Smart Governance ในไทยเกิดขึ้นหรือยัง

          ก่อนที่จะเกิดแนวคิด Smart Governance ในประเทศไทย พบว่าหลาย ๆ ส่วนงานภาครัฐได้มีการเริ่มพัฒนาหน่วยงานให้เป็น Smart Government แล้วบางส่วน โดยบางโครงการได้มีการจัดสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่การเป็น
Smart Governance ในที่สุด สำหรับโครงการบางส่วนที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหน่วยงานที่ถือว่าเป็น Smart Government นั้น สามารถยกตัวอย่างได้ ดังนี้ [2]

          1. Platform การร้องเรียนปัญหาผ่านช่องทาง Mobile Application คือ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผ่านทาง Line Official Account รวมทั้งยังสามารถติดตามความคืบหน้าของปัญหาที่ได้ทำการร้องเรียนไป นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังสามารถใช้ช่องทาง Line Official Account ในการทำงานอีก 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1) ช่องทางสื่อสารกับประชาชน ซึ่งจะเป็นทางการสื่อสารที่รัฐจะทำการสื่อสารไปยังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะภัย หรือกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยสามารถสื่อสารไปยังประชาชนในพื้นที่ได้โดยตรง และ 2) การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ หน่วยงานสามารถนำข้อมูลการร้องเรียนต่าง ๆ ไปวิเคราะห์ได้ว่าพื้นที่ใดเกิดปัญหาอะไรมากที่สุด ความถี่ในการเกิดปัญหา หรือช่วงระยะเวลาที่เกิดปัญหาบ่อย ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

          2. Platform บริการประชาชนแบบ One Stop Service บริการนี้ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามายื่นเรื่องด้วยตนเอง ประชาชนสามารถยื่นเรื่องผ่านทาง Web Portal หรือ Mobile Application ได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งข้อดีของการดำเนินการเรื่องเอกสารผ่านระบบออนไลน์นี้ จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง และช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษของหน่วยงานรัฐอีกด้วย ถ้าในกรณีที่ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ประชาชนสามารถชำระผ่านทางระบบ e-payment ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามความก้าวหน้าของเอกสารได้แบบ Real-time รวมไปถึงเป็นการเพิ่มช่องทางที่ภาครัฐใช้ในการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนเพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

          3. e-Saraban ระบบนี้ถูกออกแบบมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการหนังสือราชการทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษ ผู้มีอำนาจในการอนุมัติเอกสารก็สามารถอนุมัติเอกสารได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตามความคืบหน้าของการอนุมัติตามลำดับชั้นได้

          4. Intelligence Operation Centre: IOC ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และบริหารจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยระบบนี้เรียกว่า ศูนย์สั่งการอัจฉริยะ ซึ่งจะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud ที่จะช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ แล้วจึงนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์เพื่อไปแสดงผลหน้าจอ IOC ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ ข้อมูลจราจร ข้อมูลการใช้น้ำใช้ไฟ และข้อมูลความถี่ในการร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการช่วยพัฒนาระบบของหน่วยงานภาครัฐมีความก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบโครงข่ายการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ NT รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมขนาดใหญ่ มีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจการทำงานของภาครัฐที่มีขั้นตอนการทำงานที่มากมาย และต้องการลดภาระเอกสาร ขอนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยตอบโจทย์การทำงานของภาครัฐ ดังนี้

          1. High Speed Internet & Free Wifi บริการนี้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองการทำงานของหน่วยงานราชการ โดยให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งานทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในหน่วยงาน รวมทั้งมีความปลอดภัยสูง โดยสามารถวางโครงสร้างการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบ่งตามส่วนงานหรือตามตำแหน่งงาน ระบุความเร็วอินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทงานได้ เลือกเวลาในการใช้งานที่แตกต่างกันได้ อินเทอร์เน็ตมีความเสถียรไม่แชร์ความเร็วกับผู้อื่น และมีบริการหลังการขายตลอด 24 ชั่วโมง

          2. Secure Cloud Storage and Paperless บริการนี้ออกแบบมาเพื่อให้ผู้รับบริการมีพื้นที่สำหรับการเก็บข้อมูลบน Cloud อย่างเพียงพอ โดยสามารถเลือกความจุที่ต้องการใช้งานที่เหมาะสมได้ สามารถเข้าใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ตั้งค่าสิทธิ์ผู้ใช้ด้วยอีเมลแยกแต่ละบุคคลเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดปริมาณกระดาษ

          3. CCTV บริการนี้ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและชุมชน ระบบ CCTV นี้จะเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ที่มีคุณภาพ สามารถเรียกดูข้อมูลได้ 24 ชั่วโมง และมีบริการหลังการขายตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

          ด้วยคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการหลังการขายที่ดีของ NT ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐไว้วางใจ และได้ให้ NT ได้เข้าไปดูแลระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวมทั้งเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Governance เช่น เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเดิมทีเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่ และได้ถูกปรับเป็นเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนประชากรที่ต้องดูแลประมาณ 49,460 คน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แต่ละหน่วยงานต้องมีการปรับตัวในหลาย ๆ เรื่อง เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ก็เป็นอีกหน่วยงานที่ต้องปรับการทำงานเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในการตอบสนองประชาชน โดยเริ่มจาก ต้องมีการใช้โทรศัพท์มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการพบกันแบบตัวต่อตัว การให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ การตอบคำถามทางช่องทางออนไลน์หรือทาง Social Media ของเทศบาลฯ และการทำกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การเรียนออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดความกังวลและซึมเศร้าช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น

          ทั้งนี้ เทศบาลฯ ได้มีการปรับตัวโดยใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและ Wifi จากทาง NT โดยคุณนันท์สินี วัฒนผล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ได้กล่าวถึงความประทับใจในบริการของ NT ดังนี้

          “NT ใส่ใจทั้งตัวสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และการบริการที่มักจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของพนักงานในเทศบาลอยู่เสมอ รวมถึงการที่แสดงความใส่ใจและความห่วงใยที่ทาง NT มอบให้กับทางเทศบาลเสมอมา เมื่อมีปัญหาเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบจะให้คำปรึกษาและบริการแก้ไขที่รวดเร็ว ด้านตัวสินค้าที่ได้ใช้บริการคือ Wifi นั้นก็มีความเสถียรและความแรงที่คงที่ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและเชื่อมต่อได้รวดเร็ว ตอบโจทย์จุดประสงค์ของเทศบาลได้เป็นอย่างดี”

          NT ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นที่จะให้บริการกับทุกหน่วยงาน ด้วยความเชี่ยวชาญทางการสื่อสารโทรคมนาคมมาอย่างยาวนาน แต่ยังมีบริการดูแลหลังการขายตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมที่จะดูแลและแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้บริการ หากต้องการคำแนะนำเบื้องต้นหรือมีข้อสงสัย รวมถึงต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อสอบถามผ่านช่างทาง Facebook Page : NT shop กรุงเทพฯ และปริมณฑล หน้าเว็บไซต์ https://nt-metro-service.com/ หรือ Line@ : @ntsmesolutionbkk

แหล่งอ้างอิง
[1] https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan
[2] https://www.depa.or.th/th/article-view/smart-governance

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup