การดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจและทำความเข้าใจอย่างละเอียด คงหนีไม่พ้นการศึกษาเรื่อง “กฎหมาย” เพราะการทำธุรกิจทุกประเภทมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งกฎหมายที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องใกล้ตัว เช่น กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและค่าจ้างต่าง ๆ ของพนักงาน กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจว่าการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลธรรมดาไว้ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถล่วงละเมิดได้ เป็นต้น
การศึกษาเรื่องกฎหมายในมุมของผู้ประกอบการ SME มีประโยชน์ในหลาย ๆ ทางด้วยกัน ประการแรกที่ผู้ประกอบการ SME จะได้รับประโยชน์คือ ทำให้ทราบถึงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อนำไปปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องและไม่เสียเปรียบผู้อื่น ลดข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ รู้จักสิทธิที่พึงมีพึงได้ ไม่เบียดเบียนสังคม ทำให้ทราบถึงแนวโน้มอนาคตของธุรกิจในประเภทต่าง ๆ ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรในตลาดโลก รวมทั้งทราบถึงสาระสำคัญหรือประโยชน์ของกฎหมายที่ออกมาในธุรกิจต่าง ๆ
SME กับกฎหมายที่ต้องทำความเข้าใจ
เมื่อผู้ประกอบการได้ตกลงใจและเริ่มดำเนินการทางธุรกิจแล้ว มีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพราะทุกอย่างมีข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการ SME ควรมีความรู้ด้านกฎหมายไว้ด้วย ซึ่งกฎหมายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการ SME ควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียด ได้แก่
1. กฎหมายด้านแรงงาน เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ระบุถึงสิทธิของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งกฎหมายประเภทนี้จะกำหนดสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ไว้ เช่น วันหยุด ค่าแรง ความปลอดภัยในการทำงาน และระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนเป็นต้นไป จึงควรศึกษากฎหมายแรงงานควบคู่กับการประกอบธุรกิจด้วย [2]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/3hOMhhk
2. กฎหมายเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าจะต้องมีลักษณะที่ทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจและเห็นความแตกต่างจากสินค้าอื่น ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดสินค้าและความเป็นเจ้าของ รวมทั้งยังเป็นการรับประกันคุณภาพสินค้าอีกด้วย สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย [3]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.ipthailand.go.th/th/trademark-008.html
3. กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายนี้ระบุว่า หากผู้ประกอบการต้องการยืมบางสิ่งบางอย่างจากผู้อื่นมาใช้ในการทำธุรกิจ ถ้าสิ่งนั้นมีการจดลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องผู้ประกอบการจะต้องศึกษาเรื่องระยะเวลาของลิขสิทธิ์ให้ละเอียดก่อนนำมาใช้งาน เช่น กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้น ในส่วนของงานประเภทภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานเสียง ภาพที่มีการเผยแพร่ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้นมา หรือหากเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยการว่าจ้าง หรือทำตามคำสั่ง ลิขสิทธิ์นั้นจะมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งาน เป็นต้น [4]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.ipthailand.go.th/images/2562/Suppress/lesson2.pdf
4. กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีด้วยกันหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดผู้ประกอบการก็ควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื่องจากกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคได้ระบุว่า ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ได้ถึงคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมทั้งมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ เมื่อใดที่ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้สินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ฟ้องร้องและพิจารณาขอชดเชยความเสียหายได้ ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการทำโดยจงใจหรือประมาทของผู้ประกอบการก็ตาม ผู้ประกอบการก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย [5]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.ocpb.go.th/more_news.php?cid=9
5. กฎหมายสิทธิบัตร เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิต โดยจะมีการออกหนังสือสำคัญที่ใช้คุ้มครองผลประโยชน์ทางธุรกิจอันเกิดจากสิทธิบัตรที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยสิทธิบัตรนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นลอกเลียนแบบหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนอายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรนั้น หากเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์จะมีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร ถ้าเป็นลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์จะมีอายุ 10 ปี นับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร [6]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.ipthailand.go.th/th/patent-008.html
6. กฎหมายเกี่ยวกับการประชุมบริษัท ถ้าธุรกิจ SME ใดมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด ต้องมีการจัดประชุมบริษัท กฎหมายได้ระบุไว้ว่า การจัดประชุมของบริษัทมี 2 ประเภท คือ
1) การประชุมสามัญ เป็นการประชุมภายในประจำปีของบริษัทจำกัด อย่างน้อยปีละครั้ง โดยเนื้อหาการประชุมที่จะต้องจัดประชุมคือเรื่องของการพิจารณาการดำเนินการของบริษัทในรอบปีที่ผ่านมา การแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่แทนชุดเดิม การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนใหม่และการอนุมัติงบดุลของบริษัท และ 2) การประชุมวิสามัญ จะจัดขึ้นเมื่อใดและประชุมเรื่องใดก็ได้สุดแล้วแต่กรรมการบริษัทจะเห็นสมควร แต่ต้องมีองค์ประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยว่า 1 ใน 4 ของบริษัท [7]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=951
7. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เป็นการให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และสามารถนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอนุญาต เช่น ข้อมูลที่เป็นเลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลสุขภาพ และเชื้อชาติ เป็นต้น ซึ่งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิหลายประการด้วยกัน อาทิ สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น หากธุรกิจ SME มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลไว้ หรือมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ หรือนำไปเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นด้วยวัตถุประสงค์ใด จำเป็นต้องได้รับคำยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลด้วย เว้นแต่จะเป็นไปตามข้อยกเว้นที่ พรบ. กำหนดไว้ [8]
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/069/T_0052.PDF
8. กฎหมายด้านภาษี ปัญหาที่พบบ่อย ๆ ในการดำเนินกิจการประเภท SME คือเรื่องการยื่นชำระภาษี ส่วนมากมักเกิดกับกิจการขนาดเล็กที่ไม่ใส่ใจให้ความสำคัญในเรื่องกฎหมาย แต่กังวลเรื่องการเสียภาษีจึงใช้วิธีการหลบเลี่ยงภาษี จนทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนบางครั้งหลายกิจการต้องทำการปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถชำระภาษีที่ค้างจ่ายได้ ปัญหาที่พบบ่อยคือ การไม่ยื่นงบการเงินประจำปี การหลบเลี่ยงภาษีด้วยการตกแต่งตัวเลขหรือไม่ไปยื่นเสียภาษีเลย ซึ่งภาษีที่ต้องยื่นตามระเบียบของกรมสรรพกร เช่น ภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการธุรกิจ เพราะกรมสรรพากรถือเป็นเจ้าหนี้รายแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่ายหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษีจะละเลยไม่ได้เด็ดขาดเพราะจะมีผลในด้านกฎหมายตามมา [9]
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.rd.go.th/284.html
นอกจากปัญหาหลัก ๆ ข้างต้นตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็อาจจะมีปัญหาบางประการที่สามารถเกิดขึ้นกับธุรกิจ SME ได้ หากไม่ศึกษากฎหมายให้ดี อาทิ การใช้ภาพหรือฟ้อนต์ที่มีลิขสิทธิ์ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และภาษีที่ต้องจ่ายเฉพาะธุรกิจด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากมีปัญหาด้านกฎหมายเกิดขึ้นกับธุรกิจ ผู้ประกอบการธุรกิจก็มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบทั้งในแง่ของกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่าที่ผู้ประกอบการ SME จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเบื้องต้นที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและมั่นคง
NT รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและแข็งแรงด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร สำหรับผู้ที่สนใจบริการจาก NTสามารถติดต่อเพื่อสอบถามการบริการเพิ่มเติม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ผ่านทาง Facebook Page : NT shop กรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ https://nt-metro-service.com หรือติดต่อผ่าน Line@ : @ntsmesolutionbkk
แหล่งอ้างอิง
[1] https://www.bangkokbanksme.com/en/laws-smes-should-know-doing-business
[2] https://bit.ly/3hOMhhk
[3] https://www.ipthailand.go.th/th/trademark-008.html
[4] https://www.ipthailand.go.th/images/2562/Suppress/lesson2.pdf
[5] https://www.ocpb.go.th/more_news.php?cid=9
[6] https://www.ipthailand.go.th/th/patent-008.html
[7] https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=951
[8] http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/069/T_0052.PDF
[9] https://www.rd.go.th/284.html