Proxy คือ

Proxy คืออะไร? รู้จักการทำงาน ข้อดีและข้อเสียของพร็อกซี่

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงสื่อต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการทำธุรกรรมทางการเงิน 

โดยทุกครั้งที่เราใช้งานอินเทอร์เน็ต ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เช่น IP addres หรือตำแหน่งที่ตั้งจะถูกเซิร์ฟเวอร์เก็บไว้ โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้และนำไปใช้เพื่อการโฆษณาได้ แต่ภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าคือการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวผ่านการเชื่อมต่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีการปกป้องที่เหมาะสมอย่างการใช้ Proxy 

Proxy คืออะไร และมีหลักการทำงานที่จะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร มาติดตามพร้อมกันได้ในบทความนี้


Highlight

  • Proxy คือตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานกับอินเทอร์เน็ต โดยทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลแทนเครื่องเซิร์ฟเวอร์จริงที่ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
  • Proxy แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Transparent Proxy, Anonymous Proxy, Highly Anonymous Proxy และ Public Proxy ซึ่ง Proxy แต่ละประเภทจะมีหลักการทำงานต่างกันออกไป
  • Proxy มีข้อดีในการช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัว คัดกรองเนื้อหาให้มีความปลอดภัย เพิ่มความเร็วในการเข้าถึงเว็บไซต์และลดการใช้เวลาในการดาวน์โหลดข้อมูล
  • Proxy อาจทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์ล่าช้า เสี่ยงต่อการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและอาจรบกวนการทำงานของเว็บไซต์ได้หากตั้งค่าไม่ถูกต้อง


Proxy คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร

Proxy Server หรือ Proxy เป็นระบบตัวกลางที่ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งาน (Client) กับระบบปลายทาง (Destination Server) ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดย Proxy Server จะทำหน้าที่รับคำร้องขอ (Request) จากผู้ใช้งาน จากนั้นจึงส่งคำร้องขอนั้นไปยังปลายทางแทนผู้ใช้ และส่งผลลัพธ์ (Response) กลับมายังผู้ใช้ ซึ่งกระบวนการนี้มีประโยชน์หลายด้าน

  • ด้านประสิทธิภาพการใช้งาน: Proxy Server มีระบบ Caching ที่จะจัดเก็บข้อมูลที่มีการเรียกใช้บ่อยไว้ในหน่วยความจำ เมื่อมีการร้องขอข้อมูลเดิมซ้ำ Proxy จะสามารถส่งข้อมูลจาก Cache ให้ผู้ใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องร้องขอจากเซิร์ฟเวอร์ปลายทางใหม่ ช่วยลดเวลาการตอบสนองและประหยัดแบนด์วิดท์
  • ด้านความปลอดภัย: Proxy Server ทำหน้าที่เป็น Security Gateway โดยมีความสามารถคือ
    • ปกปิดตัวตนของผู้ใช้งานจากเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง (IP Masking)
    • ตรวจสอบและกรองเนื้อหาที่อาจเป็นอันตราย (Content Filtering)
    • ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์บางรูปแบบ
    • เข้ารหัสการสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับ Proxy (ในกรณีของ HTTPS Proxy)
  • ด้านการควบคุมการเข้าถึง: องค์กรสามารถใช้ Proxy Server เพื่อประโยชน์ดังนี้
    • กำหนดนโยบายการใช้งานอินเทอร์เน็ต
    • ติดตามและบันทึกการใช้งานเครือข่าย
    • จำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
    • จัดการการใช้แบนด์วิดท์ให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ Proxy เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกนั้นควรคำนึงถึงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบางกรณีการบล็อกอาจมีเหตุผลด้านความมั่นคงหรือกฎหมาย นอกจากนี้ การใช้ Proxy อาจส่งผลต่อความเร็วในการเชื่อมต่อ และความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ Proxy นั้นๆ


รวมรายละเอียดและลักษณะการทำงานของ Proxy  ทั้ง 4 ประเภท

ประเภทของ Proxy

ประเภทของ Proxy Server สามารถจำแนกตามระดับของการปกปิดตัวตนและลักษณะการจัดการข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง โดยแต่ละประเภทมีคุณลักษณะเฉพาะที่เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

Transparent Proxy

Anonymous Proxy

Anonymous Proxy ให้ความเป็นส่วนตัวในระดับกลาง โดยจะปิดบัง IP Address ของผู้ใช้งานจากเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง แต่ยังคงส่ง HTTP headers ที่แสดงว่ามีการใช้งานผ่าน Proxy ทำให้เซิร์ฟเวอร์ปลายทางรับรู้ถึงการใช้ Proxy แต่ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้ได้ แม้จะให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า Transparent Proxy แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ปลายทางและผู้ดูแลเครือข่ายยังสามารถตรวจจับการใช้งาน Proxy ได้

Highly Anonymous Proxy

High-Anonymity Proxy หรือ Elite Proxy เป็นประเภทที่ให้การปกปิดตัวตนในระดับสูงสุด โดยจะไม่ส่งข้อมูลใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการใช้งาน Proxy และปิดบัง IP Address ของผู้ใช้งานอย่างสมบูรณ์ ทำให้การติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ปลายทางเสมือนเป็นการเชื่อมต่อโดยตรงจาก IP Address ของ Proxy Server เอง ระบบนี้เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง อย่างไรก็ตาม การใช้งานอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการที่มีระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานที่เข้มงวด

Public Proxy

Public Proxy คือ Proxy Server ที่เปิดให้บริการสาธารณะ โดยอาจเป็นได้ทั้งแบบ Transparent, Anonymous หรือ High-Anonymity ข้อควรระวังคือ เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงมักมีปัญหาด้านความเร็วและความเสถียร นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการได้ และอาจถูกใช้เพื่อดักจับข้อมูลของผู้ใช้งาน


ทำความเข้าใจหลักการทำงานของ Proxy 

หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า Proxy คือตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานกับอินเทอร์เน็ต แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วหลักการทำงานของพร็อกซี่คืออะไรและมีวิธีการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ใช้งานกับอินเทอร์เน็ตได้อย่างไรเพื่อทำความเข้าใจหลักการและวิธีการทำงานของ Proxy ให้ดียิ่งขึ้น เราจึงสรุปหลักการทำงานของ Proxy มาให้ทุกคนได้ลองศึกษากัน

โดยหลักการทำงานของ Proxy Server นั้นเริ่มต้นจากที่ผู้ใช้งาน (User) ทำการเรียกข้อมูลของเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งผ่านตัวกลางอย่าง Proxy โดยในครั้งแรก Proxy จะทำการตรวจสอบก่อนว่ามีข้อมูลของเว็บไซต์เหล่านั้นอยู่ใน Cache หรือไม่ หากไม่มี Proxy จะเริ่มเรียกข้อมูลจากเว็บไซต์แล้วเก็บไว้ใน Cache ของตัวเอง ครั้งต่อไปที่ผู้ใช้งานทำการเรียกข้อมูลหรือต้องการเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้น ๆ อีก Proxy ก็จะส่งข้อมูลที่เก็บไว้ใน Cache ไปยังเครื่องของผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ Proxy ยังทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เก็บข้อมูลไว้ใน Cache นั้นมีการอัปเดตข้อมูลหรือไม่ หากมีก็จะคอยอัปเดตข้อมูลใหม่ทันที ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็วและยังได้เว็บไซต์ที่อัปเดตอยู่เสมออีกด้วย


สำรวจข้อดีและข้อเสียของ Proxy

ข้อดีและข้อเสียของ Proxy

อ่านมาจนถึงตรงนี้หลายคนอาจจะตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ Proxy ในการเสริมความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวขององค์กรหรือธุรกิจ ทั้งนี้เราควรศึกษาข้อดีและข้อจำกัดของ Proxy เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจ โดยข้อดีและข้อเสียของ Proxy มีดังต่อไปนี้

ข้อดีของ Proxy

  • ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เนื่องจาก Proxy สามารถซ่อนข้อมูลหรือที่อยู่ IP ของผู้ใช้งานได้ ดังนั้นกิจกรรมรวมถึงข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานจะเป็นความลับซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยคัดกรองเนื้อหาต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต นอกจากจะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แล้ว Proxy ยังสามารถคัดกรองเนื้อหาต่าง ๆ ตามนโยบายที่ผู้ดูแลระบบกำหนดไว้ ข้อดีด้านนี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับโรงเรียนหรือองค์กรที่ต้องการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรืออันตรายบนอินเทอร์เน็ต
  • ช่วยเสริมชั้นความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เนื่องจาก Proxy จะช่วยคัดกรองเว็บไซต์ที่มีการจัดเก็บหรือส่งข้อมูลที่เป็นอันตรายมายังผู้ใช้งาน นอกจากนี้ Proxy ยังช่วยปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบหรือผู้ใช้งานได้อีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีของเว็บไซต์ที่มีมัลแวร์หรือฟิชชิง
  • ช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ Proxy ไม่ได้มีข้อดีแค่ในด้านความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะ Proxy จะช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเชื่อมต่อกันอินเทอร์เน็ตโดยตรงแต่สามารถเชื่อมต่อผ่าน Proxy แทน ซึ่งการเชื่อมต่อแบบนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการดาวน์โหลดให้น้อยลงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ Cache สำหรับเว็บไซต์ที่เข้าชมบ่อย

ข้อเสียของ Proxy

  • ทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์ช้าลง เพราะหากตั้งค่า Proxy ไม่ถูกต้องหรือมีการใช้งานมากเกินไปก็อาจจะส่งผลให้ Proxy เพิ่มความล่าช้าในการดาวน์โหลดและเข้าถึงเว็บไซต์ ดังนั้นการจัดการและการตั้งค่า Proxy ให้เหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคงประสิทธิภาพในการเข้าถึงเว็บไซต์
  • ความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัว แม้ Proxy Server จะมีคุณสมบัติในการปกปิดตัวตนของผู้ใช้งาน แต่ตัว Proxy Server เองสามารถบันทึกข้อมูลการใช้งานทั้งหมด (Logging) ไม่ว่าจะเป็น URL ที่เข้าชม, HTTP Headers, ข้อมูลการ Authentication และ Session Information ดังนั้นหาก Proxy Server ถูกควบคุมโดยผู้ไม่ประสงค์ดีหรือองค์กรที่ต้องการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งาน ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
  • เสี่ยงที่จะถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากหาก Proxy ถูกบุกรุกหรือเราถูก Proxy ที่มีความอันตรายดักจับก็อาจจะทำให้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อน อาทิ ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, ข้อมูลการเข้าสู่ระบบ หรือข้อมูลทางการเงินถูกเปิดเผยได้
  • ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ โดย Proxy บางชนิดอาจจะส่งผลให้การเชื่อมต่อหรือฟังก์ชันการทำงานของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมีปัญหาได้ ดังนั้นก่อนการติดตั้ง Proxy จึงควรจะต้องทดสอบความเข้ากันได้กับแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันปัญหา Proxy ไม่สามารถทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์

Proxy ต่างจาก VPN อย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

ความแตกต่างด้านการทำงาน 

VPN (Virtual Private Network) สร้างอุโมงค์เข้ารหัส (Encrypted Tunnel) ระหว่างอุปกรณ์ของผู้ใช้งานกับ VPN Server โดยการเข้ารหัสจะครอบคลุมการรับส่งข้อมูลทั้งหมด (Full Traffic Encryption) รวมถึง DNS Requests และ การเชื่อมต่อทุกแอปพลิเคชัน ในขณะที่ Proxy Server ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับการรับส่งข้อมูลเฉพาะบางประเภท (เช่น HTTP/HTTPS Traffic) และมักไม่มีการเข้ารหัสระหว่างผู้ใช้งานกับ Proxy Server

ระดับการป้องกันความปลอดภัย 

VPN ให้การป้องกันที่ครอบคลุมกว่าโดยการเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดด้วยโปรโตคอลความปลอดภัยมาตรฐาน เช่น OpenVPN, IKEv2, หรือ WireGuard ซึ่งช่วยป้องกันการดักจับข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หรือการโจมตีแบบ Man-in-the-Middle ส่วน Proxy Server อาจมีการเข้ารหัสเฉพาะในกรณีของ HTTPS Proxy เท่านั้น

การใช้งาน Proxy Server ร่วมกับ VPN เป็นแนวทางที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและระดับความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการทำงานร่วมกันนี้สามารถจัดการได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน วิธีการพื้นฐานที่นิยมใช้คือการเชื่อมต่อ VPN เป็นลำดับแรกเพื่อสร้างอุโมงค์เข้ารหัสสำหรับข้อมูลทั้งหมด จากนั้นจึงกำหนดค่า Proxy Server ให้ทำงานผ่านการเชื่อมต่อ VPN ที่เข้ารหัสแล้ว ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มชั้นของการปิดบังตัวตนและทำให้การติดตามแหล่งที่มาของการเชื่อมต่อทำได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้งานทั้งสองระบบร่วมกันจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านประสิทธิภาพ เนื่องจากการเพิ่มจำนวนจุดเชื่อมต่อและการเข้ารหัสหลายชั้นอาจส่งผลให้ความเร็วในการเชื่อมต่อลดลง จึงควรมีการทดสอบและปรับแต่งค่าการเชื่อมต่อให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดค่า DNS อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลผ่านช่องโหว่ของระบบ DNS และที่สำคัญที่สุดคือการเลือกผู้ให้บริการทั้ง VPN และ Proxy Server ที่มีความน่าเชื่อถือและมีนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจน


สรุป Proxy ตัวช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต

Proxy คือเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดย Proxy จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเรียกข้อมูล กรองเนื้อหา รวมไปถึงการแคชข้อมูล ซึ่ง Proxy จะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวรวมไปถึงภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบหรือผู้ใช้งาน ทั้งนี้แม้ว่า Proxy จะมีข้อดีอยู่หลายประการแต่ก่อนการตัดสินใจใช้งานเราควรจะต้องพิจารณาข้อเสียรวมไปถึงผลกระทบทางกฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


References

Buckbee, M. (2022, June 24). What is a Proxy Server and How Does it Work?.
https://www.varonis.com/blog/what-is-a-proxy-server

Onar, A. (2023, August 30). What is Proxy Server and How Does it Work?. 
https://www.1kosmos.com/security-glossary/proxy-server/

Tran, T. (2022, August 10). An Introduction to Proxies.
https://www.digitalocean.com/community/conceptual-articles/introduction-to-proxies 

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup