คู่มือปรับบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศ ฉบับมือโปร

         จากแนวโน้มในปัจจุบันที่มีการสลับการทำงานระหว่างการเข้าทำงานในสำนักงานกับทำงานที่บ้าน (Hybrid WFH) ซึ่งกำลังจะเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตของหลาย ๆ องค์กร รวมไปถึงรูปแบบการทำงานจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ใดก็ได้ (Work From Anywhere) และคนรุ่นใหม่ที่หันมาเปิดธุรกิจเองมากขึ้น ด้วยหลายเหตุผลเหล่านี้ผู้ประกอบการเหล่านั้นจึงอาจจะต้องการใช้พื้นที่สำหรับการทำงานที่ลดลง ในขณะเดียวกันราคาค่าเช่าสำนักงานกลับมีราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นแทนที่จะเช่าพื้นที่สำนักงานแบบเป็นรายปี ก็อาจใช้วิธีการเช่าพื้นที่แบบ Co-working space ที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามต้องการ หรืออีกแนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยม คือการปรับปรุงบ้านให้เป็นที่ทำงานในรูปแบบของโฮมออฟฟิศ (Home Office) มาดูกันว่าการที่จะเปลี่ยนบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศแบบมือโปรจะมีปัจจัยใดบ้างที่ต้องคำนึงถึงและปฏิบัติ

ทำงานโฮมออฟฟิต

วางแผนก่อนทำโฮมออฟฟิศ

         อันที่จริง Home Office ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โฮมออฟฟิศในความหมายที่เป็นที่คุ้นเคยเช่นทุกวันนี้น่าจะเริ่มมาตั้งแต่ปีสหัสวรรษ ซึ่งเป็นหลักไมล์ของการเริ่มต้นของสตาร์ทอัพธุรกิจต่าง ๆ ยุคแรก ๆ ของการทำโฮมออฟฟิศมักจะใช้ห้องทำงาน หรือห้องอ่านหนังสือในบ้านเป็นสถานที่ทำงาน

         แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศมักจะมีสองแนวทาง คือจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้เป็นออฟฟิศและบางส่วนยังเป็นที่อยู่อาศัย หรืออีกแนวทางคือเปลี่ยนแปลงบ้านทั้งหลังให้เป็นโฮมออฟฟิศ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ต้องมีการวางแผนที่ดี โดยมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงดังนี้

1. กำหนดการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ เช่น มีพื้นที่สำหรับการทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์  หรือมีพื้นที่สำหรับการออกแบบ การตัดเย็บถ้าหากทำธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้า เป็นต้น

2. จำนวนพนักงานควรจะมีส่วนสัมพันธ์กับพื้นที่ใช้สอย ทั้งส่วนที่ใช้ทำงานที่ควรมีขนาดที่เหมาะสมและพื้นที่ส่วนกลางที่พนักงานสามารถมาใช้งานได้อย่างสบาย 

3. ตัวบ้าน แปลนบ้าน โครงสร้าง และสภาพของบ้านที่เหมาะสมที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นโฮมออฟฟิศได้หรือไม่  

วางแผนโฮมออฟฟิต

4. สถานที่จอดรถทั้งส่วนของพนักงาน และผู้มาติดต่อควรจะมีให้เพียงพอและเป็นสัดส่วนจะได้ไม่เป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน

5. จะมีที่อยู่อาศัยในโฮมออฟฟิศนี้ด้วยหรือไม่เพราะเกี่ยวกับการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำงานและพื้นที่อยู่อาศัย

6. ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า สายไฟฟ้าในบ้านต้องมีความแข็งแรงปลอดภัยเพราะโฮมออฟฟิศจะต้องมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกหลายเท่า รวมถึงต้องมีการขอปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มจากการไฟฟ้าฯ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 

7. สภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งในด้านความปลอดภัย การเดินทาง อาหารการกิน หรือถ้าหากข้างบ้านมีคนอยู่อาศัยตลอดเวลาในช่วงกลางวัน ควรทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านเพื่อลดความขัดแย้ง เช่น การจอดรถล้ำหน้าบ้าน หรือเสียงดัง เป็นต้น

ตกแต่งโฮมออฟฟิศอย่างไรให้น่าทำงาน

1. พื้นที่ใช้สอย (Space) บริเวณที่ทำงานควรจัดสรรพื้นที่ให้พนักงานทำงานได้สบาย มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับทำงานพอสมควร รวมถึงมีพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ห้องหรือมุมสตูดิโอถ้าหากต้องมีการถ่ายภาพนิ่ง   นอกจากนั้นจะต้องมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อความสะดวกสบายได้แก่ ห้องน้ำ ห้องเตรียมอาหารให้เพียงพอต่อการใช้งานของพนักงาน

2. การตกแต่งและแสง (Interior Design & Light) การตกแต่งภายในมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนทำงานเกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่ทำงานควรให้ความสำคัญเรื่องวัสดุ พื้นผิว และโทนสี โดยนำมาผสมผสานให้เป็นสไตล์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นพลังให้ความรู้สึกแอคทีฟ หรือให้ความรู้สดชื่นตื่นตัว เป็นต้น

         สิ่งที่มีบทบาทต่อการทำงานอีกเรื่องหนึ่งคือ แสงสว่าง  โดยปกติ หน้าต่างเป็นแหล่งนำแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามา แต่ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แสงสีขาวจากหลอดไฟก็สามารถทดแทนได้ ส่วนไฟสีเหลืองอาจเลือกใช้เฉพาะจุดที่ต้องการให้ผ่อนคลาย เช่น มุมนั่งเล่นพักผ่อน หรือมุมรับประทานอาหาร

ตกแต่งโฮมออฟฟิต

3. มุมพักผ่อน (Relaxation Corner) การจดจ่อกับงานตลอดทั้งวันอาจทำให้เกิดความเครียด มุมพักผ่อนจึงมีความจำเป็น เพื่อช่วยลดความเครียดจากการนั่งที่โต๊ะทำงานเป็นเวลานาน ๆ การตกแต่งมุมนี้ ควรเลือกโทนสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองต้องการพัก หรืออาจจัดพื้นที่นันทนาการที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น มุมเล่นปิงปอง มุมเล่นเกม เป็นต้น

4. อยู่สบาย (Well-being) ไม่ว่าจะเป็นมุมใดก็ตาม การทำโฮมออฟฟิศควรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศแทบทั้งวัน ควรเลือกวัสดุตกแต่งและเครื่องเรือนที่ไม่มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารเคมีซึ่งมักผสมอยู่ในสิ่งทอ พลาสติก หรือสีทาบ้าน เมื่อระเหยออกมาในอากาศจะส่งผลต่อระบบประสาท ระคายผิวหนัง ทางเดินหายใจ 

5. มีความยั่งยืน (Sustainable) ควรเลือกใช้วัสดุตกแต่ง เครื่องเรือน รวมถึงอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุที่สามารถรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ หลีกเลี่ยงของที่เป็นพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว หลอดไฟควรใช้หลอด LED เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ปิดสวิทช์ไฟทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน บริเวณที่มีแดดจ้าควรปลูกต้นไม้เพื่อกรองแสง และช่วยให้เครื่องปรับอากาศมีอายุการทำงานนานขึ้น

6. การติดต่อสื่อสาร (Communication) โฮมออฟฟิศจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพเมื่อมีการวางระบบอินเทอร์เน็ตที่ดีและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพไม่ขาดตอน มีการวางระบบภายในอาคารที่ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกอาคาร ตอบสนองต่อทุกรูปแบบธุรกิจ รวมถึงมีการสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย เช่น ระบบ Cloud เป็นต้น

         ข้อควรระวังสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ใช้โฮมออฟฟิศคือการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ทำงานให้ชัดเจน บริหารเวลาระหว่างชีวิตประจำวันกับการทำงาน (Work Life Balance) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีเวลาให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศอาจมีหลายเรื่องและมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องทำ แต่เชื่อแน่ได้ว่าเมื่อได้ปรับบ้านให้เป็นโฮมออฟฟิศที่ดีแล้วน่าจะเป็นสถานที่ที่น่าทำงาน เสริมสร้างความสุขให้พนักงาน เพื่อความเติบโตของกิจการต่อไป

ทำงานโฮมออฟฟิตสมัยใหม่

         ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ NT Premium Broadband Solution เป็นบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับบริษัท หรือองค์กรตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ เป็นบริการอินเทอร์เน็ตที่มีการจัดระดับความสำคัญในระดับที่สูงที่สุด ทั้งคุณภาพการรับส่งสัญญาณ ความเร็ว ความเสถียร และความปลอดภัยซึ่งวางใจได้เนื่องจากเป็น Leased Line สามารถปรับให้เข้ากับรูปแบบการใช้งานของธุรกิจแต่ละรายตามความเหมาะสม 

         รวมถึงการวางระบบอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารที่ต้องมีการออกแบบที่ดี ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร (NT Smart In-Building Wi-Fi Solution) พร้อมการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ ตาม พ.ร.บ. คอม มาตรา 26 ว่าด้วยองค์กรที่ให้บริการ Wi-Fi ต้องเก็บข้อมูล Log file เป็นเวลา 90 วัน ซึ่ง NT มีบริการดังกล่าวให้กับลูกค้า รวมทั้งมีหน่วยบริการหลังการขายที่ปฏิบัติงานตลอด 24/7 เพิ่มความอุ่นใจให้กับผู้ใช้บริการ 
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการวางระบบได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ NT Contact Center โทร. 1888
หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://nt-metro-service.com/nt-business-solution-expert/

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup