ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันการใช้คอมพิวเตอร์ และการสื่อสารผ่านระบบเน็ตเวิร์คเป็นของใกล้ตัวมาก ๆ อย่างไรก็ตามทรัพยากรบางอย่างที่มีต้นทุนสูงหรือสามารถเชื่อมต่อเพื่อใช้งานได้มากกว่าหนึ่ง เราสามารถใช้การออกแบบระบบเครือข่ายเข้ามาช่วยให้อุปกรณ์สามารถแลกเปลี่ยนและแบ่งปันทรัพยากรได้ ทั้งช่วยประหยัดต้นทุน และยังช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนประกอบของระบบเครือข่ายเบื้องต้น
เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อสารระหว่างกัน และเข้าถึงทรัพยากรเครือข่ายด้วยกันได้จำเป็นต้องมีระบบเครือข่าย โดยส่วนประกอบของระบบเครือข่ายมีดังนี้
- เครื่องศูนย์บริการข้อมูล (Server) : มีหน้าที่เป็นแกนหลักในการให้บริการข้อมูล เครื่องเซิร์ฟเวอร์นี้มักจะเป็นเครื่องที่มีสเปกสูง เนื่องจากต้องคอยให้บริการข้อมูลแก่เครื่องลูกข่ายเป็นจำนวนมากตลอดเวลา
- เครื่องลูกข่าย (Clients หรือ Workstation) : เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั่วไป โดยสามารถขอใช้บริการหรือขอข้อมูลจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ได้
- ช่องทางการสื่อสาร : เป็นตัวกลางให้ผู้ให้บริการและผู้ขอรับบริการสามารถเชื่อมต่อกันได้ เช่นสายเคเบิลที่ใช้บนเครือข่าย (Netword Cables), Router เป็นต้น
- อุปกรณ์ในเครือข่าย : เพื่อให้ระบบเครือข่ายระหว่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องลูกข่ายเชื่อมต่อระหว่างกัน จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในเครือข่ายเข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น
- การ์ดเครือข่าย (Network Interface Cards) : แผงวงจรที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องลูกข่าย ใช้เพื่อแปลงสัญญาณไปตามสายสัญญาณ ทำให้ทั้งระบบเครือข่ายสามารถรับส่งข้อมูลได้
- ฮับและสวิตช์ (Hubs and Switches) : เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จัดการการรับและส่งข้อมูลภายในเครือข่าย
- ระบบปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operating System) : ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ขั้นตอนการออกแบบระบบเครือข่าย
การออกแบบระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีขั้นตอนดังนี้
- เลือกสถานที่วางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์ควรจะอยู่ในที่ที่มีความปลอดภัยทั้งในแง่ของอุบัติเหตุทั่วไปและการโจรกรรม
- เลือกมาตรฐานระบบเครือข่ายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- เลือกสื่อกลางเชื่อมต่อการรับส่งข้อมูล
- กำหนด Topology หรือโครงสร้างระบบเครือข่ายให้สัมพันธ์กับสื่อกลางที่เลือกไว้
- เลือกอุปกรณ์ในเครือข่ายให้เหมาะสม
- เริ่มติดตั้งระบบและเดินสายสัญญาณก่อนจะทดสอบการทำงานของระบบต่อไป
หลักการออกแบบระบบเครือข่าย
เพื่อให้ระบบเครือข่ายที่ใช้เหมาะสมแก่องค์กรนั้น ๆ การออกแบบระบบเครือข่ายจึงควรจะต้องพิจารณาจากหลักการออกแบบระบบเครือข่าย ดังนี้
- ออกแบบระบบเครือข่ายโดยยึดจากความต้องการใช้งานเป็นหลัก แล้วจึงพิจารณาเลือกฟีเจอร์จะเหมาะสมกว่า
- ออกแบบระบบเครือข่ายโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และลดความซับซ้อนของระบบเครือข่ายลง เพื่อให้สามารถเข้ามาอัปเดต แก้ไข หรือเสริมอุปกรณ์ใหม่ ๆ ได้ง่าย และยังเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อ
- เดินสาย LAN เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การแบ่งข้อมูลในเครือข่ายเป็นไปอย่างเหมาะสม แบ่งสัดส่วนชัดเจน และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย
- ออกแบบระบบเครือข่ายให้ง่ายที่สุด เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย และยังลดการใช้ทรัพยากรไปได้อีกทาง นอกจากนี้ควรออกแบบระบบเครือข่ายโดยแผนรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ออกแบบระบบเครือข่ายโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้นทุน ไม่ว่าจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบระบบที่ลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด หรือการปรับปรุงระบบเครือข่ายเดิมโดยที่ไม่ต้องออกแบบระบบเครือข่ายใหม่ทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น
- เมื่อสามารถลดต้นทุนการออกแบบระบบเครือข่ายได้ก็สามารถนำงบประมาณที่เหลือไปลงทุนกับระบบ Endpoint หรือ Application ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
ประโยชน์ของการออกแบบระบบเครือข่าย
การออกแบบระบบเครือข่ายมีประโยชน์ต่อองค์กรต่าง ๆ มากมาย เช่น
- สามารถแบ่งปันทรัพยากรที่มีต้นทุนสูงให้สามารถใช้งานได้หลาย ๆ คน เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์, หน่วยจัดเก็บข้อมูล, ระบบ POS, เครื่องพิมพ์, Network เป็นต้น
- สามารถให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น
- สามารถจัดการทรัพยากรและข้อมูลได้อย่างเหมาะสม และยังสามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงทรัพยากรของลูกข่ายได้ตามตำแหน่งหน้าที่
- จัดการเรื่องการรักษาความปลอดภัยได้ง่าย
- ลดต้นทุนทั้งในเรื่องการดำเนินงานและการใช้ทรัพยากร
ตัวอย่างของการออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับธุรกิจ
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าการออกแบบระบบเครือข่ายมีประโยชน์ต่อองค์กรไม่น้อย จึงทำให้หลายหน่วยงานเลือกที่จะออกแบบระบบเครือข่ายที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเพื่อประโยชน์อันสูงสุด
ในหัวข้อนี้จะขอยกตัวอย่างการออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับธุรกิจที่ช่วยให้การบริหารจัดการภายในบริษัทราบรื่นยิ่งขึ้นและส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้น
- เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความต้องการของระบบเครือข่าย โดยจะต้องมองให้ออกว่าธุรกิจนี้มีความต้องการอะไรบ้าง มีเป้าหมายด้านเทคนิคอย่างไร
- ประเมินว่ามีอุปกรณ์และแอปพลิเคชันอะไรบ้างที่ใช้ในบริษัท รวมถึงผังอาคารและจำนวนผู้ใช้งานระบบเครือข่ายทั้งหมด
- เมื่อทราบข้อมูลด้านความต้องการและทรัพยากรที่มีแล้วก็สามารถวางแผนออกแบบระบบเครือข่าย และเริ่มงานติดตั้งอุปกรณ์และระบบเครือข่ายต่อไป
- เมื่อติดตั้งตามการออกแบบระบบเครือข่ายที่วางแผนไว้แล้วเสร็จให้เริ่มการทดสอบประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายที่วางแผนไว้
การออกแบบระบบเครือข่ายของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันไป แต่โดยพื้นฐานมักจะต้องมีการใช้ระบบรักษาความปลอดภัย, การจำกัดการเข้าถึงข้อมูล, การระบุตัวตนของผู้ใช้งานในเครือข่าย, ระบบสำรองไฟ, ระบบแอนตี้ไวรัส, ระบบ Network เป็นต้น
ปัญหาที่มักจะพบจากการออกแบบระบบเครือข่าย
ดูตัวอย่างของการออกแบบระบบเครือข่ายกันไปแล้ว ต่อมาไปดูปัญหาที่มักจะพบจากการออกแบบระบบเครือข่ายกัน ดังนี้
- ระบบเครือข่ายทำงานช้า : ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อใช้งานระบบเครือข่ายไปสักระยะ เนื่องจากเริ่มมีการสะสมของจำนวนข้อมูลมากขึ้น
- ข้อมูลรับส่งชนกัน : หากสายสัญญาณที่ใช้มีประสิทธิภาพไม่ดีพอ เมื่อข้อมูลเข้าออกมีมากขึ้นก็มีโอกาสที่การรับส่งข้อมูลจะชนกันได้
- การใช้สายสัญญาณมากเกินขีดจำกัด : การติดตั้งสายสัญญาณมากไป หรือติดตั้งในลักษณะที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ข้อมูลที่รับส่งเสียหายหรือกลายเป็นขยะได้
- ฮาร์ตแวร์ชำรุด : ส่งผลให้ระบบเครือข่ายล่ม ข้อมูลเสียหาย
- การถูกโจมตีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต : เป็นปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้ระบบเครือข่ายล่ม สร้างความเสียหายต่อระบบได้
เมื่อทราบถึงปัญหาที่มักเกิดขึ้นก่อนจะวางแผนออกแบบระบบเครือข่ายก็จะช่วยให้การอกกแบบระบบเครือข่ายเป็นไปอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการออกแบบระบบเครือข่าย
ออกแบบระบบเครือข่ายในบ้าน เป็นแบบไหน ต้องใช้อะไรบ้าง?
การออกแบบระบบเครือข่ายในบ้านส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่การแชร์เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งโดยส่วนมากจะใช้เพียงแค่ Router เป็นช่องทางการสื่อสารและกระจายสัญญาณ
การออกแบบระบบเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ สำหรับ โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย สำคัญอย่างไร?
เพราะสถานศึกษาเป็นแหล่งรวมของการใช้งานที่หลากหลาย การออกแบบระบบเครือข่ายสำหรับสถานศึกษาเช่นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพจะช่วยให้การสืบค้น เข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรสามารถใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างทั่วถึงแบบมีคุณภาพ
สรุปเกี่ยวกับการออกแบบระบบเครือข่าย
การออกแบบระบบเครือข่ายที่เหมาะสมกับองค์กรจะช่วยให้ภายในองค์กรสามารถใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร และยังช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด
NT ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร พร้อมบริการรับทำ MA และ รับวางระบบ Network ช่วยให้ระบบการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตรวดเร็วและมีความปลอดภัยสูง สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- Facebook:NT shop กรุงเทพและปริมณฑล
- Line:@NTSMESolutionBKK
- Tel: 02-575-5151
References
Audin, G. (2018, November 30). 6 Design Principles of the Modern LAN. Nojitter. https://www.nojitter.com/enterprise-networking/6-design-principles-modern-lan