“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” เป็นแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เพราะเมืองคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและเกี่ยวข้องกับประชาชนในทุกๆ ด้าน เมื่อมีประชากรมาอยู่รวมตัวกันอย่างหนาแน่น ปัญหาหลาย ๆ ด้านจึงตามมา ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะ ขยะ อาชญากรรม การเดินทางและการขนส่ง การจราจร ที่พักอาศัย และอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขมาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้หมดไปได้เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจากประชากรไม่ลดลงแต่กลับจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน
ดังนั้น จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างชาญฉลาด การพัฒนาเมืองโดยใช้แนวคิด “Smart City” จึงเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติจริงในหลาย ๆ ประเทศ ผลที่ได้รับคือประชาชนในหลาย ๆ เมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแล ปัญหาทางสังคมหลาย ๆ ด้านค่อย ๆ ลดน้อยลง
คำว่า “Smart City” มีผู้นิยามไว้หลากหลาย แต่ประเด็นหลักที่นิยามไว้ตรงกันคือ การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเมือง เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างสะดวกสบายเป็นมิตร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี [1] เพื่อให้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น จึงขอยกตัวอย่างเมืองที่ใช้แนวคิด “Smart City” เข้ามาพัฒนาเมือง นั่นคือ อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองแห่งนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่อย่าง Phillips, Cisco, IBM, และบริษัทเล็กๆ อีกจำนวนมาก ร่วมกันพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะช่วยกันคิดค้นและพัฒนาให้อัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีสำหรับ Smart City และได้กลายเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ในยุโรป เช่น มีการจัดเก็บขยะโดยรถขยะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นไฟฟ้า บ้านหลายพันหลังติดตั้งหลังคาที่ช่วยประหยัดพลังงาน มีจุดจ่ายกระแสไฟให้กับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลายจุด เป็นต้น [2]
ในประเทศไทย รัฐบาลได้กำหนดให้ Smart City เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ดีขึ้น รวมทั้งยังสอดคล้องกับแผนชาติ เช่น โมเดลประเทศไทย 4.0 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศดิจิทัลในอนาคต [1]
การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City มีด้วยกัน 7 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) [2]
ในส่วนของบทความนี้จะขอกล่าวถึงมิติที่ 7 การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ หรือ Smart Governance เป็นหลัก เป็นเรื่องที่รัฐบาลเน้นและให้ความสำคัญ โดยรัฐได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2565-2566 ทุกหน่วยงานรัฐจะต้องมีคลังข้อมูลและใช้ข้อมูลเดียวกัน เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เนื่องจากแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ Smart City ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาเมืองใหญ่ แต่ต้องพัฒนารวมไปถึงระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยหัวใจสำคัญที่ต้องทำคือ การบริหารจัดการเมืองแบบบูรณาการ ด้วยการนำข้อมูลเชิงพื้นที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ปัญหาในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และสร้างประโยชน์ด้านการบริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า “Smart Local Government” (SLG) [3]
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรนิติบุคคลที่มีกว่า 8,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นผู้นำชุมชนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีจำนวนสมาชิกกว่า 150,000 คน ซึ่งอปท. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ภายในองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการ รวมไปถึงพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการภายในองค์กร ทั้งนี้ หน่วยงานเองก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อที่จะได้นำมาปฏิบัติใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น NT ขอนำเสนอตัวอย่างการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองระดับท้องถิ่นอย่างเทศบาลตำบลอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม โดยมี NT เป็นผู้ให้บริการด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านอินเทอร์เน็ต
เทศบาลตำบลอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม โดย นายเกรียงศักดิ์ พริ้งรักษา รองนายกเทศมนตรี
ตำบลอ้อมใหญ่ ได้ใช้บริการของ NT ในเรื่องระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย Metro LAN, Eco leased line internet, Fiber 2U, IP-phone 19 เลขหมายและ CCTV พร้อมบริการลิงก์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 50 จุด โดยใช้บริการของ NT ยาวนานถึง 18 ปี
คุณเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า “เทศบาลนี้ก่อตั้งปี 2547 เมื่อก่อนเป็นสุขาภิบาล พึ่งยกสถานะเป็นเทศบาลครับ และใช้อินเทอร์เน็ต TOT มาตลอดตั้งแต่เริ่มสำนักงานเลยครับ ตอนนี้ทางเทศบาลอ้อมใหญ่จะใช้ในเรื่องของโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งของเรามีทั้งสำนักงาน มีทั้งโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะใช้ของ NT ทั้งหมด แล้วก็ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ทั้งเรื่องของการส่งข้อมูลทุกอย่างกับเรื่องของงานทะเบียนราษฎร์แล้วก็ในเรื่องของการศึกษา ระบบอินเทอร์เน็ตและทีวีที่ใช้อยู่ก็จะเป็น NT ทั้งหมดเหมือนกันครับ”
นอกจากนี้แล้ว คุณเกรียงศักดิ์ยังมีวิสัยทัศน์ถึงการพัฒนาเทศบาลฯ ให้มีความทันสมัยและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบให้ดียิ่งขึ้น
“ทางเทศบาลตำบลอ้อมใหญ่อยากจะพัฒนาในส่วนของพื้นที่การให้บริการ Wi-Fi ฟรีในชุมชน ที่ครอบคลุมไปถึงการให้บริการประชาชนในพื้นที่สาธารณะ เพื่อช่วยให้กิจการอุตสาหกรรม การเกษตร และจุดท่องเที่ยวมีการเข้าถึงออนไลน์ได้มากขึ้น”
นอกจากบริการอินเทอร์เน็ตจะสามารถส่งเสริมการทำกิจการต่าง ๆ และการท่องเที่ยวของชุมชนแล้ว การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City หรือเมืองอัจฉริยะนั้น ยังสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย ทั้งสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการติดตั้งกล้อง CCTV ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของประชาชน โดยทางเทศบาลฯ มีการให้บริการกล้อง CCTV แล้วกว่า 50 จุดในพื้นที่ชุมชน ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีความสบายใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองร่วมกัน ซึ่งจุดนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงของทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐที่พยายามจะให้ท้องถิ่นของตนเองน่าอยู่ และปลอดภัย
ด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง คุณเกรียงศักดิ์ ยังคงต้องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเพื่อป้องกันภัยภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนตำบลอ้อมใหญ่เป็นอย่างมาก เช่น การดูแลระดับน้ำเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
“ไอเดียนี้เพิ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ในช่วงนี้เลย เนื่องจากเทศบาลของเรา มีพื้นที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำท่าจีน ทำให้เมื่อมีมวลน้ำใหญ่เข้ามาที่ภาคกลางระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นและเอ่อท่วมเข้าพื้นที่ชุมชนทาง เทศบาลจึงมีแนวคิดในการแจ้งเตือนข้อมูลระดับน้ำผ่าน Line หรือช่องทางเสียงตามสายที่ทางเทศบาลเรามี ทั้งนี้หากสามารถเปิดให้ประชาชน สามารถเข้าดูระดับน้ำได้ 24 ชั่วโมง ผ่านช่องทางออนไลน์ ก็น่าจะเพิ่มความสะดวกให้แก่ชุมชนมากขึ้น”
นอกจากการพัฒนาสภาพแวดล้อมภายนอกแล้ว คุณเกรียงศักดิ์ในฐานะรองนายกเทศมนตรี ยังมีความต้องการที่จะพัฒนาการทำงานภายในเทศบาลเพื่อให้ทันสมัยและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งการเก็บเอกสารในรูปแบบของ GOV Secure Cloud Storage เพื่อให้สามารถเรียกดูเอกสารได้โดยไร้ข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ รวมถึงพัฒนาการลงนามในเอกสารสำคัญต่าง ๆ ให้เป็นระบบ E-signature อีกด้วย
“อีกปัญหาหนึ่งที่เทศบาลเราเจอ คือ เรื่องของการลงนามในเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่ผู้มีอำนาจในขอบเขตงานนั้น ๆ ต้องเป็นผู้ลงนามด้วยตนเอง อย่างกรณีล่าสุด ทางเทศบาลต้องทำเรื่องเบิก-อนุมัติ กระสอบทรายเพื่อนำมากั้นน้ำ แต่ทางนายกเทศมนตรีก็กำลังลงพื้นที่ดูแลประชาชน เลยมีแนวคิดกันว่าหากทางหน่วยงานของเราสามารถใช้ระบบการลงนามอิเล็กทรอนิกส์ (E-signature) ได้ ก็น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่ทำให้เราสามารถทำงานรับใช้ชุมชนได้คล่องตัวยิ่งขึ้น”
ด้วยวิสัยทัศน์การทำงานที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีร่วมกับการพัฒนาท้องถิ่นมาโดยตลอด จึงก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลอ้อมใหญ่และ NT มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
“สำหรับบริการทั้งทางด้านโทรศัพท์ เบอร์ภายใน ระบบอินเทอร์เน็ต ทางเทศบาลของเรามีการใช้บริการมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็น TOT จนถึงปัจจุบัน ความประทับใจที่มีกับ NT คือ การมีเซลส์ประสานงาน คอยช่วยเหลือแก้ปัญหา ไม่ว่าจะมีปัญหาเล็กใหญ่หรือต้องการความเห็นอะไร ทางทีมก็ช่วยสนับสนุนกลับมาเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน” คุณเกรียงศักดิ์ รองนายกเทศมนตรีตำบลอ้อมใหญ่ กล่าวปิดท้าย
จากการยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม และ NT จะเห็นได้ว่า มีการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็น Smart Local Government ด้วยกันถึง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ เนื่องจาก NT เป็นบริษัทมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบวงจรตอบโจทย์เรื่องการสื่อสารและเทคโนโลยีทันสมัย มีความพร้อมในเรื่องของนวัตกรรมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคหลากหลายรูปแบบ และนี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ NT ได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานรัฐมาอย่างยาวนาน และพร้อมเคียงข้าง อปท. ในประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Smart City อย่างครบวงจร
สำหรับ อปท. ใดสนใจ สามารถติดต่อเพื่อสอบถามการบริการเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ผ่านทาง Facebook Page : NT shop กรุงเทพและปริมณฑล หรือสามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ nt-metro-service.com
แหล่งอ้างอิง
[1] https://kpi.ac.th/uploads/files/X1lRkw662FtywHNjkGom9S8ElduHNkAX48mvYBUq.pdf
[2] https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/life-style/smart-city.html
[3] https://www.salika.co/2018/12/30/la-city-model-nakornnont-40/