เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคโควิด 19 ระบาดทั่วโลกในปีพ.ศ. 2562 ทั่วทั้งโลกมีการเปลี่ยนแปลงในเกือบจะทุกด้านอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยส่งผลกระทบทั้งต่อวงการสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้งการศึกษา ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการระบาดดังกล่าว วิถีชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยเปลี่ยนไป จนกระทั่งต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ที่เรียกว่า New Normal ไม่เว้นแม้แต่วิถีการเรียนของเด็ก ๆ รวมถึงระบบการเรียนการสอนที่ถูกผลักดันให้เป็นแบบ Smart School มากยิ่งขึ้น
โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแต่การศึกษายังต้องดำเนินต่อไป เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าโควิด 19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังนั้น ทุกสถาบันการศึกษาจึงต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้เด็กยังคงได้รับการศึกษาที่ควรจะเป็นด้วยการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายออนไลน์ หรือที่เรียกว่า เรียนออนไลน์ หรือ Online Learning โดยที่โรงเรียนมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการสนับสนุนการเรียนแบบออนไลน์ทั้งอุปกรณ์ในการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet เป็นต้น และการเสียสละเวลาในการดูแลบุตรหลานที่เรียนออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย
เมื่อการเรียนออนไลน์แบบ New Normal เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ปกครองเองก็มีการปรับตัว ทุ่มเทเวลา ใกล้ชิดกับบุตรหลานมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำให้บางครอบครัวมองเห็นโอกาสในการศึกษาแบบหนึ่งที่คิดว่าครอบครัวตัวเองอาจจะมีความพร้อมและน่าจะเหมาะสมกับบุตรหลาน รวมทั้งเหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดโรคระบาดขึ้นอีกในอนาคต การเรียนดังกล่าวเรียกว่า Home School
การเรียนในรูปแบบ Home School ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ก็อาจไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากนัก และอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเรียนในรูปแบบนี้ค่อนข้างมาก เช่น ต้องเรียนเฉพาะที่บ้านไม่สามารถออกไปเรียนที่ไหนได้ เมื่อเรียนจบแล้วจะไม่มีวุฒิการศึกษา หรือการเรียนแบบ Home School ไม่สามารถทำให้เด็กเรียนต่อในระดับชั้นสูง ๆ อย่างเช่น มหาวิทยาลัย ได้ เป็นต้น บทความนี้จึงขอเสนอความเข้าใจที่ถูกต้องและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับ Home School เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลาน
เข้าใจการเรียนแบบ Home School
Home School หรือ Home Schooling แปลว่า การศึกษาโดยครอบครัว เป็นการเรียนที่ผู้ปกครองสามารถจัดรูปแบบการศึกษาให้กับบุตรหลานได้อย่างเสรี สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเน้นที่ความสนใจของตัวบุตรหลานเป็นสำคัญ โดยเลือกวิชาที่เด็กมีความถนัดและชอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนแต่เฉพาะที่บ้านแต่สามารถพาเด็กออกไปเรียนรู้ภายนอกได้ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เห็นวิถีชีวิต สัมผัสกับสิ่งที่อยากจะทำ ซึ่งในระบบการศึกษาของประเทศไทย มีพระราชบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 23 ระบุว่า การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา และกฎกระทรวง ให้สามารถจัดการศึกษาได้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยแต่ละระดับชั้นสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ตามหน่วยงานที่กำหนด [1]
ถึงแม้การเรียนแบบ Home School จะดูมีความยืดหยุ่นและตรงกับลักษณะความถนัดความชอบของเด็กก็ตาม แต่ก่อนที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจว่าบุตรหลานควรเรียนการศึกษาในระบบหรือนอกระบบก็ควรมีการศึกษาทั้งข้อดีและข้อด้อยของการเรียนลักษณะนี้ด้วย [2]
ข้อดีของการเรียนแบบ Home School | ข้อด้อยของการเรียนแบบ Home School |
การเรียนแบบนี้สามารถเรียนจบได้เร็วกว่าการเรียน ในโรงเรียนปกติ | ถ้าคนในครอบครัวไม่มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนแบบ นี้อย่างจริงจัง ก็อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียนได้ |
ทำให้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองใช้เวลาอยู่กับเด็กนานมากขึ้น | เด็กจะมีความเสี่ยงต่อการขาดทักษะการเข้าสังคมได้ง่าย ดังนั้น ครอบครัวต้องให้เด็กได้มีโอกาสฝึกเรื่องการเข้าสังคมด้วย |
ผู้ปกครองสามารถเลือกแนวทางการเรียนให้เหมาะกับผู้เรียนได้โดยดูจากความชอบและความถนัดของเด็ก | การเรียนแบบนี้บางครั้งอาจจะมีความอิสระมากเกินไปจนทำให้รู้สึกไร้ทิศทางถ้าขาดเป้าหมายที่ชัดเจน |
สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดด้วยการปิดเทอม หรือเปิดเทอม | หากผู้ปกครองใช้วิธีการสอนเด็กด้วยตัวเอง เด็กอาจจะไม่ค่อยรับฟังเท่ากับการเรียนจากบุคคลอื่น |
การเรียนลักษณะนี้มีความยืดหยุ่นเรื่องวันและเวลาเรียนได้ดีกว่า | ผู้ปกครองอาจจะทำ Home School ด้วยความกดดัน และเกิดความเครียดจนทำให้ไม่มีความสุข |
เด็กสามารถเลือกเรียนเฉพาะในรายวิชาที่ต้องใช้เรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในวิชาที่ไม่เกี่ยวข้อง | ผู้ปกครองต้องอัปเดตติดตามข้อมูล รวมไปถึงเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้เด็กได้เรียนในหลักสูตรที่ทันต่อยุคสมัย |
เมื่อทราบข้อดีและข้อด้อยของการเรียนแบบ Home School แล้ว ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์แล้วเปรียบเทียบหลาย ๆ ปัจจัยเข้าด้วยกันว่า การเรียนลักษณะนี้จะมีความเหมาะสมกับครอบครัวของผู้ปกครองมากน้อยเพียงใด และครอบครัวจะต้องมีความพร้อมในด้านใดบ้างถึงจะทำให้บุตรหลานประสบความสำเร็จในการเรียน
ครอบครัวเราเหมาะหรือไม่กับการเรียนแบบ Home School
ในการเรียนแบบ Home School ซึ่งเป็นการเรียนนอกระบบการศึกษา ครอบครัวต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ทางเพื่อรองรับการเรียนของเด็ก ซึ่งความพร้อมของครอบครัวอาจแบ่งได้ ดังนี้ [3]
- ความพร้อมด้านเวลา ผู้ปกครองต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนของเด็กโดยตรง ถึงแม้เลือกจดทะเบียนกับโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนที่ดูแลเรื่องหลักสูตรต่าง ๆ ให้ก็ตาม แต่การเรียนแบบ Home School เวลาส่วนใหญ่เด็กจะไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนแต่เป็นการเรียนรู้ที่บ้านเป็นหลัก อาจจะต้องออกไปทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ด้วย ผู้ปกครองจึงต้องจัดสรรเวลาที่เหมาะสม ทุ่มเทดูแลเรื่องการเรียนของเด็กอย่างเต็มที่
- ประเมินสภาพแวดล้อมของครอบครัว สภาพแวดล้อมประกอบไปด้วยหลายปัจจัย เช่น ขนาดของครอบครัว ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่มีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ด้วย ผู้ปกครองควรต้องอธิบายถึงผลลัพธ์ของการเรียนแบบนี้ให้ชัดเจนและมีความเข้าใจตรงกันหรือถ้ามีบุตรหลานหลายคน ผู้ปกครองต้องวางแผนหรือตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะทำการเรียนการสอนแบบนี้กับลูกทุกคนหรือไม่ รวมทั้งเรื่องสถานที่ในการเรียน ที่บ้านควรมีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมกับเรียน เช่น จัดสรรพื้นที่เรียนส่วนตัวโดยปราศจากสิ่งรบกวนใด ๆ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสงบ เป็นต้น
- พิจารณาเรื่องเงิน มองอย่างผิวเผินการเรียนแบบ Home School อาจจะช่วยประหยัดงบประมาณของครอบครัวได้ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรลืมคือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ถึงแม้ผู้ปกครองจะจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาแล้วได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ผู้ปกครองเองก็ควรจะต้องมีการวางแผนและประเมินค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพของครอบครัวไว้ด้วย
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ควรมีการพิจารณาเรื่องการเรียนลักษณะนี้ร่วมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็ก ว่าการเรียนแบบ Home School คือหนทางที่เหมาะสมกับเด็กหรือไม่ หรืออาจจะลองวางเป้าหมายเรื่องการเรียนร่วมกันว่าสิ่งที่อยากได้จากการเรียน Home School คืออะไร เช่น ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะที่ชอบให้พัฒนาขึ้น ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีมีเวลาคุณภาพมากขึ้น ลดความเครียดจากการใช้ชีวิตบนท้องถนนขณะเดินทางไปโรงเรียน และการเรียนแบบ Home School จะเป็นเส้นทางที่พาเด็กไปศึกษาต่อในแนวทางที่ต้องการได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
- คำนึงถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่ลูกถนัด ผู้ปกครองควรคำนึงว่าเด็กเหมาะสมกับการเรียนรู้ในรูปแบบใด เช่น เรียนรู้ได้ดีผ่านการอ่านด้วยตนเอง เรียนรู้ได้ดีผ่านการสอนจากครู เรียนรู้ได้ดีจากการลงมือทำ เป็นต้น หลังจากนั้นจึงนำมาพิจารณาว่าการเรียนรู้ที่เด็กถนัดจะเหมาะกับการเรียนแบบ Home School หรือไม่
- คำนึงถึงลักษณะนิสัยเด็ก ผู้ปกครองต้องพิจารณาว่าเด็กมีบุคลิกภาพและพื้นฐานลักษณะนิสัยอย่างไร เช่น เด็กบางคนสามารถเรียนรู้ได้แบบเงียบ ๆ คนเดียว ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม แต่เด็กบางคนชอบเข้าสังคม ชอบเจอเพื่อน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องพิจารณาว่าการเรียนแบบ Home School เหมาะสมกับเด็กหรือไม่ หรืออาจจะจัดการเรียนแบบ Home School ให้เหมาะกับเด็ก เช่น เด็กที่ชอบเข้าสังคม ผู้ปกครองก็ต้องพยายามจัดให้เด็กมีกิจกรรมนอกบ้านบ่อยครั้ง เพื่อให้เด็กได้เจอเพื่อนและเข้าสังคมอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ทำความเข้าใจร่วมกัน ผู้ปกครองและเด็กต้องทำความเข้าใจร่วมกันและปรึกษาหารือกันก่อนตัดสินใจที่จะทำการเรียนแบบ Home School บางครั้งผู้ปกครองอาจจะมีความพร้อมแต่เด็กไม่ชอบ หรือบางครั้งเด็กอยากเรียนแบบ Home School แต่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อม ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียนรูปแบบใด ครอบครัวควรต้องมองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและตั้งเป้าหมายร่วมกันได้
จบ Home School แล้วเรียนต่อได้ไหม
คำถามที่ว่า ถ้าเรียน Home School มาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เด็กจะสามารถไปเข้าเรียนต่อระดับชั้นอุดมศึกษาได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจเรียนแบบ Home School ซึ่งในปัจจุบัน กฎกระทรวงศึกษาธิการได้ระบุไว้ว่าการเรียนแบบ Home School ทุกระดับชั้นตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ตามหน่วยงานที่กำหนด นั่นหมายถึงเมื่อเด็กจบแต่ละระดับขั้นการศึกษาก็จะได้ใบรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการสอบเข้าโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับเด็กที่เรียนในระบบการศึกษาปกติ ซึ่งผู้ปกครองสามารถขอใบรับรองวุฒิการศึกษาได้หลายวิธี ดังนี้ [2]
- การยื่นขออนุญาตจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง
- การเรียน กศน. หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- การจัดการเรียนการสอนโดยร่วมกับโรงเรียนที่มีการเปิดรับนักเรียน Home School
- เรียนกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
- สอบเทียบด้วยวุฒิการศึกษาต่างประเทศ เช่น GED หรือ IGCSE & A Level
ในกรณีที่ผู้ปกครองอยากให้เด็กกลับเข้าเรียนโรงเรียนในระบบปกติ ผู้ปกครองก็สามารถขอใบรับรองวุฒิการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้ลงทะเบียนไว้ได้ หรือจะปรึกษาเรื่องวุฒิการศึกษากับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้เช่นกัน
NT รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม พร้อมสนับสนุนเรื่องการศึกษาของเด็กไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพร้อมในการพัฒนาเด็กไทยให้ก้าวสู่ความสำเร็จระดับโลก สำหรับผู้ที่สนใจบริการจาก NT สามารถติดต่อเพื่อสอบถามการบริการเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ผ่านทาง Facebook Page : NT shop กรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ https://nt-metro-service.com หรือ Line@ : @ntsmesolutionbkk
แหล่งอ้างอิง
[1] https://bit.ly/3UeDKSb
[2] https://www.chulatutor.com/blog/homeschool/#.Y4Vxi-xBwq1
[3] https://bit.ly/3FaXtxV