เมื่อธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้น นอกจากการบริหารจัดการทางการเงินให้มีสภาพคล่องที่ดีแล้วนั้น การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์หรือบริษัทเป็นอีกเรื่องจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจควรคำนึงถึง เพราะการที่บริษัทมีการจดทะเบียนทำให้ได้สิทธิประโยชน์ของการเข้าถึงการสนับสนุนที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อหรือเจรจาต่อรองด้านธุรกิจที่ง่ายขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของภาครัฐ แนวทางการจัดทำบัญชีและการจ่ายภาษีที่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทที่มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้อง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งบริษัทที่จัดตั้งใหม่หรือธุรกิจที่มีการเติบโตมาแล้วในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนบริษัท การจดทะเบียนบริษัทยังเป็นข้อพิจารณาสำคัญสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าในเส้นทางธุรกิจอย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการจดทะเบียนบริษัท เจ้าของธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภท SME หรือกลุ่ม Start Up อาจคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนและอาจต้องว่าจ้างมืออาชีพอย่างสำนักงานบัญชีให้เข้ามาช่วยดำเนินการแทน รวมทั้งไม่ทราบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกรรมเหล่านั้นมากน้อยเพียงไร ปัจจุบันการจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้หลากหลายช่องทางและไม่มีความยุ่งยากอย่างที่คิด
บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทให้เจ้าของธุรกิจได้ศึกษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. ช่องทางการจดทะเบียนบริษัท
2. ประเภทของการจดทะเบียนบริษัท
3. ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท
ช่องทางการจดทะเบียนบริษัท
ช่องทางการจดทะเบียนบริษัท มี 3 ช่องทาง ดังนี้
1. การจดทะเบียนบริษัทผ่านบริการสำนักงานบัญชี [1]
การขอจดทะเบียนบริษัทโดยใช้บริการสำนักงานบัญชีนั้น จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 1 วัน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารด้วยตัวเอง แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการนั้นจะอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 6,000-12,000 บาท
2. การจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration [2]
การขอจดทะเบียนบริษัทแบบที่ 2 นี้ สามารถดำเนินการได้ทั้งผู้ประกอบการเอง หรือดำเนินการผ่านผู้แทนก็ได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะสะดวกสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีความประสงค์จะใช้บริการของสำนักงานบัญชี จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากเจ้าของธุรกิจจะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัทจาก 5,000 บาท เหลือ 2,750 บาท (สำหรับธุรกรรมการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) แต่อาจจะไม่รวดเร็วเหมือนวิธีที่หนึ่งสำหรับเจ้าของธุรกิจที่มีขนาดของธุรกิจที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แนะนำให้ทำการจดทะเบียนบริษัทผ่านทางระบบออนไลน์ DBD e-Registration เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยสามารถเข้าไปดำเนินการได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th)
3. การจดทะเบียนบริษัทจดด้วยตนเองแบบ walk-in ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า [1]
การจดทะเบียนบริษัทด้วยวิธีนี้ จะมีความรวดเร็วในการดำเนินการเหมือนวิธีที่ 1 คือสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ภายใน 1 วัน รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการจดทะเบียนบริษัทผ่านบริการสำนักงานบัญชี แต่จะไม่ได้รับส่วนลดค่าธรรมการจัดตั้งบริษัทเหมือนการจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง
ประเภทของการจดทะเบียนบริษัท [3]
การจดทะเบียนบริษัท แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)
การจดทะเบียนประเภทนี้ จะเป็นการจดทะเบียนบริษัทสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการแต่เพียงคนเดียว โดยบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้บริหารจัดการงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัท ได้รับกำไรและรับผิดชอบหนี้สินแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทแบบนี้จะเหมาะสำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็กที่ขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ยุ่งยาก
2. การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล
การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล จะเป็นการดำเนินธุรกิจสำหรับบริษัทที่มีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนขึ้นไป ซึ่งการจดทะเบียนประเภทนี้ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการธุรกิจ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
2.1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ
การจดทะเบียนบริษัทแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ จะใช้กับผู้ถือหุ้นจำนวน 2 คนขึ้นไป โดยหุ้นส่วนทุกคนจะมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการบริษัท มีการแบ่งกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการ รวมทั้งร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของบริษัทอย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียนบริษัท จะมีสถานภาพเป็นบุคคลธรรมดา แต่ถ้ามีการจดทะเบียนบริษัท ก็จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ที่เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินของบริษัทแบบ “ไม่จำกัดจำนวน” อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการตกลงให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้
2.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด
การจดทะเบียนบริษัทแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องมีผู้ถือหุ้นจำนวน 2 คนขึ้นไป และต้องทำการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วน จะแบ่งเป็นแบบ “จำกัด” และแบบ “ไม่จำกัด” ต่อความรับผิดในหนี้สินของกิจการ
– หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด” หมายถึง ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน แต่หุ้นส่วนประเภทนี้จะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในกิจการ แต่มีสิทธิ์ที่จะสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้
– หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัด” ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ โดยจะมีสิทธิ์ตัดสินใจต่าง ๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่
2.3 บริษัทจำกัด
การจดทะเบียนบริษัทจำกัด จะต้องเป็นกิจการที่มีผู้ประกอบการ 3 คนขึ้นไป โดยต้องจดทะเบียนนิติบุคคล หุ้นส่วนแต่ละคนจะเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินแบบ “จำกัด” ไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ซึ่งกิจการที่เป็นบริษัทจำกัดนี้ ต้องมีการวางแผนดำเนินกิจการที่รัดกุม มีรูปแบบการบริหารงานแบบคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีภาพลักษณ์ที่ดี
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท [4]
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท สรุปได้เป็น 12 ข้อ ดังนี้
1. การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินการจดทะเบียนบริษัท เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทไว้เสียตั้งแต่แรก เพื่อทำความเข้าใจว่าขั้นตอนต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร เช่น ต้องเตรียมเอกสารข้อมูลอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่ ต้องติดต่อหน่วยงานไหน รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการดำเนินการ ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจดทะเบียนบริษัทจริงๆ จะได้ไม่เสียเวลาในการดำเนินการ
2. การเตรียมเอกสาร ข้อมูล และค่าใช้จ่ายสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อเจ้าของธุรกิจได้ทำการศึกษาหาข้อมูลสำหรับการจดทะเบียนบริษัทมาเป็นอย่างดีแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ ค่าใช้จ่าย รวมทั้งเวลาให้พร้อม
3. การตั้งชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
การตั้งชื่อบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะเป็นช่องทางที่ลูกค้าจะรู้จักบริษัท เจ้าของธุรกิจควรตั้งชื่อบริษัทให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นที่จดจำ ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจควรทำการค้นหาข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทว่าชื่อบริษัทที่ตั้งไว้นั้น มีความคล้ายคลึงหรือซ้ำกับชื่อของบริษัทอื่นหรือไม่ เพราะหากมีความคล้ายคลึงหรือซ้ำกัน อาจเกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ หรืออาจมีปัญหากับบริษัทอื่นในกรณีที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน
4. การจองชื่อบริษัทสำหรับใช้ในการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อเจ้าของธุรกิจคิดชื่อบริษัทได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ เจ้าของธุรกิจต้องเข้าไปทำการจองชื่อและตรวจคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โดยจะต้องสมัครสมาชิกและจองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือยื่นจองด้วยตนเองต่อนายทะเบียนสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดในเขตที่พักอาศัยอยู่ ทั้งนี้ การจองชื่อสำหรับใช้ในการจดทะเบียนบริษัทสามารถจองได้ครั้งละ 1 ชื่อ
5. การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการยื่นหนังสือต่อนายทะเบียน
หนังสือบริคณห์สนธิเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทหรือธุรกิจนั้น ๆ โดยมีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัท เช่น ชื่อบริษัท ผู้ก่อตั้ง ที่อยู่บริษัท และทุนจดทะเบียนบริษัท เป็นต้น โดยเจ้าของธุรกิจจะต้องดำเนินการยื่นหนังสือนี้ไม่เกิน 30 วัน หลังจากวันที่นายทะเบียนได้มีการรับรองชื่อบริษัทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
6. การเปิดรับการจองหุ้นของบริษัทและทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด
หลังจากที่เจ้าของธุรกิจได้ดำเนินการยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนแล้ว ในขั้นตอนต่อมา ก็จะเป็นการเปิดให้จองหุ้นของบริษัท หลังจากนั้นก็จะต้องทำการนัดหมายกับผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งหมดเพื่อมาเข้าร่วมการประชุม โดยการจัดประชุมนั้นควรจะจัดหลังจากที่มีการซื้อหุ้นของบริษัทจนหมดแล้ว และควรให้อยู่ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือ
7. การจัดประชุมบุคลากรในบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก
การประชุมนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มารับทราบข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการหารือและทำความเข้าใจให้ตรงกันต่อการจัดระบบต่าง ๆ ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบของบริษัท การกำหนดค่าตอบแทน การกำหนดตำแหน่งงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
8. การจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท
การจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทจะเป็นขั้นตอนที่จะเกี่ยวข้องกับการเก็บเงินชำระค่าหุ้นประมาณ 25% ของราคาหุ้นจริง เพื่อนำเงินในส่วนนี้มาทำการขอจดทะเบียนตั้งบริษัท และหลังจากนั้นจะต้องดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท ซึ่งถ้าหากกระบวนการนี้เกิดขึ้นช้ากว่ากำหนดแล้ว ก็จะต้องมีการนัดหมายการประชุมใหม่ เพราะถือว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ
9. การชำระเงินสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
ในขั้นตอนนี้ เจ้าของธุรกิจจะต้องเตรียมเงินสำหรับดำเนินการชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนบริษัท โดยในขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จะมีการคำนวณจากเงินทุนแสนละ 50 บาท ชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 500 บาท แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท จะมีการคำนวณจากทุนการจดทะเบียนแสนละ 500 บาท ชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 5,000 บาท แต่ไม่เกิน 250,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
– ค่าธรรมเนียมใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
– ค่าธรรมเนียมรับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
10. การรับใบสำคัญและหนังสือรับรองหลังที่ได้มีการจดทะเบียนบริษัท
ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการจดทะเบียนบริษัท หากเจ้าของธุรกิจได้ดำเนินการต่าง ๆ ครบถ้วนและถูกต้องสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เสร็จสิ้นเรียบร้อย ก็จะมีการส่งมอบหนังสือรับรองบริษัทกลับมาเพื่อเป็นการยืนยันว่าบริษัทได้รับการจดทะเบียนบริษัทและก่อตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถที่จะดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้ต่อไป
11. การเตรียมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต
เมื่อการจดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าของธุรกิจควรที่จะต้องเตรียมพร้อมและวางแผนรับมือกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาอีกมากมายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษี ค่าจ้างบุคลากร ค่าเสื่อมอุปกรณ์ รวมถึงค่าซ่อมแซมเล็กน้อย หากได้มีการวางแผนเหล่านี้อย่างรัดกุมและรอบคอบ ก็จะช่วยให้การดำเนินงานและการบริหารธุรกิจนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น
12. สถานที่จดทะเบียน
จากขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมา เจ้าของธุรกิจสามารถจดทะเบียนบริษัทได้ตามที่อยู่นี้
– สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนได้ที่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 4 ถนนนนทบุรี 1 จังหวัดนนทบุรี หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าทั้ง 6 เขต
– สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดอื่น ยื่นจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่บริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
– ยื่นจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตที่ www.dbd.go.th
ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการจดทะเบียนบริษัทสำหรับเจ้าของธุรกิจ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นวิธีการดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโต ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งบริษัทจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินการอย่างคล่องตัวแล้ว การวางระบบการทำงานที่ดี มีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวได้อย่างยืดหยุ่น นับว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้ก้าวหน้า และทันตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่อีกด้วย
หากเจ้าของธุรกิจหรือบริษัทใดที่มีความสนใจที่จะต้องการออกแบบ และติดตั้งระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถเข้ามาขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางช่อง Line @NTSMESolutionBKK หรือสามารถติดต่อผ่านทางเว็บไซต์ nt-metro-service.com
* หมายเหตุ NT Business Solution Center เฉพาะพื้นที่ที่มีโครงข่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
[1] https://flowaccount.com/blog/how-to-register-a-company-via-dbd-e-registration/
[2] https://ereg.dbd.go.th/ERegistMemberWeb/nonmemberpages/home.xhtml
[3] https://peakaccount.com/blog/%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/
[4] https://www.station-account.com/11-steps-registration-company/