ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในภัยที่อันตรายที่สุดคงหนีไม่พ้น “Ransomware” มัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่สร้างความเสียหายให้องค์กรทั่วโลกอย่างมหาศาล จนเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่ต้องตระหนักอย่างจริงจัง เพราะเพียงการโจมตีครั้งเดียวก็สามารถทำให้ธุรกิจหยุดชะงักหรือสูญเสียข้อมูลสำคัญได้ทั้งหมด และที่น่ากังวลกว่านั้นคือ เหล่าแฮกเกอร์ได้พัฒนาวิธีโจมตีให้แยบยลและซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของทุกองค์กรที่ต้องเตรียมหาทางรับมือและแก้ไขไวรัสเรียกค่าไถ่ชนิดนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ
Highlight
- Ransomware คือ มัลแวร์ที่ใช้เทคนิคการเข้ารหัสเพื่อปิดกั้นไฟล์ ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จากนั้นผู้โจมตีจะส่งข้อความเรียกค่าไถ่ ผ่านช่องทางชำระเงินที่ยากต่อการติดตามรอย เช่น การชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เป็นต้น
- ช่องทางการแพร่กระจายของ Ransomware มีหลากหลาย เช่น E-mail ที่แนบไฟล์อันตราย, Malvertising หรือโฆษณาออนไลน์ที่ติดมัลแวร์, Remote Desktop Protocol (RDP) ที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้ง Legitimate Website หรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือแต่ถูกแฮ็กเพื่อแพร่มัลแวร์
- เมื่อโดนเรียกค่าไถ่จาก Ransomware ไม่ควรจ่ายค่าไถ่ให้กับผู้โจมตีทุกกรณี เพราะการจ่ายค่าไถ่ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้รับข้อมูลกลับคืนมา อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนอาชญากรไซเบอร์ให้โจมตีเป้าหมายรายอื่นต่อไป
- การป้องกันที่มีประสิทธิภาพต้องทำหลายด้านพร้อมกัน ได้แก่ อัปเดตซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการสม่ำเสมอ จัดทำระบบสำรองข้อมูล (Backup) แบบ 3-2-1 กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงอย่างเข้มงวด ติดตั้งเครื่องมือตรวจจับและป้องกันการโจมตีในเชิงลึก รวมถึงให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
- Ransomware คืออะไร? ทำความรู้จักมัลแวร์อันตรายที่อาจเข้ารหัสข้อมูลของคุณได้ทุกขณะ
- รูปแบบการแพร่กระจายของ Ransomware สามารถเกิดขึ้นในช่องทางใดได้บ้าง?
- กระบวนการดำเนินงานของ Ransomware มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?
- ติด Ransomware แล้วควรปฏิบัติอย่างไร? สำรวจแนวทางการแก้ไขและกู้คืนข้อมูล
- โดน Ransomware แล้วควรจ่ายค่าไถ่ไหม มั่นใจได้หรือไม่ว่าจะได้ข้อมูลคืน?
- วิธีป้องกัน Ransomware สามารถเตรียมรับมืออย่างไรได้บ้าง?
- สรุป Ransomware คือ ภัยไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายได้ภายในชั่วพริบตา
Ransomware คืออะไร? ทำความรู้จักมัลแวร์อันตรายที่อาจเข้ารหัสข้อมูลของคุณได้ทุกขณะ
Ransomware คืออะไร? แรนซัมแวร์ คือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่แตกต่างจากมัลแวร์ทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่จะมุ่งขโมยข้อมูลสำคัญ มัลแวร์ชนิดนี้จะใช้เทคนิคการเข้ารหัสขั้นสูงเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงไฟล์ทั้งหมดในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสำคัญ รูปภาพ หรือไฟล์วิดีโอ ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้ จากนั้นผู้โจมตีจะส่งข้อความเรียกค่าไถ่ โดยมักกำหนดให้ชำระผ่านสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin หรือ Monero ซึ่งยากต่อการติดตามและตรวจสอบ
การระบาดของ Ransomware ได้กลายเป็นวิกฤตทางไซเบอร์ระดับโลก โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จัดให้เป็นภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายและค่าไถ่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่สำคัญ แม้ผู้เสียหายจะยอมจ่ายค่าไถ่ แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าจะได้รับคีย์สำหรับปลดล็อกข้อมูลคืนมา อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีซ้ำ ทำให้ความเสียหายอาจเพิ่มขึ้นตามมาเป็นทวีคูณ
รูปแบบการแพร่กระจายของ Ransomware สามารถเกิดขึ้นในช่องทางใดได้บ้าง?
ในโลกดิจิทัลที่การเชื่อมต่อออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน Ransomware ได้พัฒนาวิธีการแพร่กระจายให้แยบยลและหลากหลาย ผู้ไม่หวังดีได้ออกแบบช่องทางการโจมตีที่แนบเนียนจนยากต่อการสังเกต บางครั้งแฝงตัวมาในรูปแบบที่ดูน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่ซ่อนตัวอยู่ในสิ่งที่คุณใช้งานเป็นประจำ ทำให้แม้ผู้ใช้งานที่ระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว ลองมาดูกันว่าในปัจจุบัน Ransomware มีช่องทางการแพร่กระจายในรูปแบบใดบ้าง
Ransomware คือมัลแวร์ที่เข้ารหัสข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งการแพร่กระจายของไวรัส Ransomware ผ่านช่องทางอีเมลถือเป็นวิธีที่พบบ่อยที่สุด โดยผู้โจมตีจะปลอมแปลงตัวตนเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น สถาบันการเงินหรือบริษัทชั้นนำ หรือส่วนราชการ พร้อมใช้ข้อความที่ดูเป็นทางการอย่าง “Dear Valued Customer” หรือ “Undelivered Mail Returned to Sender” เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อเปิดไฟล์แนบที่แฝงมัลแวร์เอาไว้
เทคนิคที่พบบ่อยคือการแนบไฟล์ที่มีนามสกุลคุ้นตาอย่าง .doc หรือ .xls แต่แท้จริงแล้วซ่อนนามสกุล .exe ที่เป็นอันตรายเอาไว้ เช่น Paper.doc.exe ซึ่งระบบจะแสดงเพียง Paper.doc ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงเอกสาร Word หรือ Excel ทั่วไป นอกจากนี้ยังอาจแฝงมาในรูปแบบของไฟล์ .pdf หรือไฟล์บีบอัดอย่าง .zip และ .rar ได้อีกด้วย
Malvertising
หนึ่งในวิธีการแพร่กระจายที่อันตรายของ Ransomware คือ การใช้เทคนิค Malvertising หรือการแฝงตัวมาในรูปแบบของการโฆษณาออนไลน์ ซึ่งผู้ไม่หวังดีจะฝังโค้ดอันตรายเอาไว้ในโฆษณาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ในซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้งานดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้งานคลิกเข้าไปชมหน้าเว็บหรือติดตั้งซอฟต์แวร์ที่มีโฆษณาอันตรายเหล่านี้ลงในอุปกรณ์ มัลแวร์ก็จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในระบบ เพื่อเข้าควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมเบราว์เซอร์ไม่ได้รับการอัปเดตให้ทันสมัย
Legitimate Website
Ransomware สามารถแพร่กระจายได้แม้แต่ผ่านเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (Legitimate Website) โดยอาชญากรไซเบอร์จะใช้วิธีการเจาะระบบของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งาน เพื่อแฝงโค้ดอันตรายหรือลิงก์ที่นำไปสู่การติดตั้งมัลแวร์ประเภท Ransomware เมื่อผู้ใช้งานเข้าชมเว็บไซต์เหล่านี้ อาจถูกหลอกให้ดาวน์โหลดไฟล์อันตรายหรือถูกนำไปยังหน้าเว็บที่มีการติดตั้งมัลแวร์โดยอัตโนมัติผ่านช่องโหว่ของระบบ วิธีการนี้มักประสบความสำเร็จเพราะผู้ใช้งานมักไม่ระวังตัวเมื่อเข้าเว็บไซต์ที่คุ้นเคยหรือใช้งานเป็นประจำ
กระบวนการดำเนินงานของ Ransomware มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?
Ransomware คือมัลแวร์ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแฮกเกอร์เล็งเห็นโอกาสในการหาผลประโยชน์จากการเรียกค่าไถ่ข้อมูล โดยมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและแยบยล ดังนี้
- เริ่มจากการแฝงตัวเข้าสู่ระบบอย่างแนบเนียน โดยมัลแวร์จะทำการสแกนระบบและเครือข่ายเพื่อค้นหาไฟล์เป้าหมาย แลจึงะค่อย ๆ เข้ารหัสไฟล์ทีละน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของระบบ และอาจมีการลบข้อมูลสำรอง (Backup) ที่มีอยู่ในระบบ
- เมื่อเข้ารหัสไฟล์เสร็จสิ้น หน้าจอแสดงข้อความเรียกค่าไถ่ (Splash Screen) จะปรากฏขึ้น พร้อมแจ้งเงื่อนไขการชำระเงินและระยะเวลาที่กำหนด
- ผู้โจมตีอาจใช้กลยุทธ์ข่มขู่ที่แตกต่างกัน บางครั้งแสดงข้อความก้าวร้าวเพื่อสร้างความกดดัน ปลอมตัวเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อหลอกให้จ่ายเงิน หรือขู่ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกขโมยสู่สาธารณะ (Double Extortion)
- จำนวนเงินค่าไถ่จะแตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทขององค์กรเป้าหมาย โดยผู้โจมตีมักกำหนดเงื่อนไขว่าหากจ่ายเร็วจะเสียค่าไถ่น้อยกว่า แต่ถ้าช้าจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น หรืออาจสูญเสียข้อมูลทั้งหมดโดยถาวร
- หลังจากได้รับการชำระเงิน ผู้โจมตีอ้างว่าจะส่งรหัสสำหรับปลดล็อกไฟล์ให้ แต่ไม่มีการรับประกันว่าเหยื่อจะได้รับรหัสจริง หรือสามารถกู้คืนข้อมูลได้ทั้งหมด
ติด Ransomware แล้วควรปฏิบัติอย่างไร? สำรวจแนวทางการแก้ไขและกู้คืนข้อมูล
หากคุณตกเป็นเหยื่อ Ransomware การรู้ขั้นตอนที่ถูกต้องในการรับมือจะช่วยลดความเสียหายและเพิ่มโอกาสในการกู้คืนข้อมูลได้ การตอบสนองอย่างเป็นระบบได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีแนวทางปฏิบัติที่แนะนำ ดังนี้
- แยกเครื่องที่ติดมัลแวร์ออกจากเครือข่ายทันที โดยถอดสายเครือข่าย ปิด WiFi และตัดการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเช่น External Hard Disk หรือ USB Drive เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังเครื่องอื่น ๆ
- ตรวจสอบและระบุประเภทของมัลแวร์ โดยบันทึกข้อความเรียกค่าไถ่และนามสกุลไฟล์ที่ถูกเข้ารหัส จากนั้นปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือทีมไอทีเพื่อวิเคราะห์สายพันธุ์ของ Ransomware และวางแผนจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม
- ทำการล้างระบบทั้งหมดเพื่อกำจัดมัลแวร์ โดยการฟอร์แมตและติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ พร้อมติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่ทันสมัย จากนั้นกู้คืนข้อมูลจากระบบสำรองข้อมูล (Backup) ที่แยกเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบในขณะเกิดการโจมตี
- ตรวจสอบและอุดช่องโหว่ที่อาจเป็นสาเหตุของการถูกโจมตี โดยทำการตรวจสอบและประเมินระบบ IT ขององค์กร (Security Assessment) อย่างละเอียด ทั้งในด้านการตั้งค่าระบบ การอัปเดตซอฟต์แวร์ และการกำหนดสิทธิ์การเข้าถึง
- วิเคราะห์เส้นทางและสาเหตุการเข้ามาของ Ransomware อย่างละเอียด เช่น การเปิดอีเมลหลอกลวง การดาวน์โหลดไฟล์อันตราย หรือช่องโหว่ของระบบเพื่อเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำไปปรับปรุงนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
- จัดทำแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางไซเบอร์ (Incident Response Plan) ที่ครอบคลุมการโจมตีด้วย Ransomware โดยเฉพาะ เพื่อให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
โดน Ransomware แล้วควรจ่ายค่าไถ่ไหม มั่นใจได้หรือไม่ว่าจะได้ข้อมูลคืน?
วิธีที่ถูกต้องและควรปฏิบัติ เมื่อโดนเรียกค่าไถ่จาก Ransomware คืออะไร? ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกได้ให้คำแนะนำตรงกันว่า คุณไม่ควรจ่ายค่าไถ่ให้กับผู้โจมตีในทุกกรณี แม้ข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสนั้นจะมีความสำคัญมากเพียงใดก็ตาม เนื่องจากการจ่ายค่าไถ่ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะได้รับรหัสปลดล็อกข้อมูลกลับคืนมา ด้วยเหตุผลสำคัญในหลายประการ เช่น
- ไม่มีการรับประกันว่าจะได้รับข้อมูลคืน: การจ่ายค่าไถ่ไม่ได้รับประกันว่าผู้โจมตีจะส่งรหัสถอดรหัสที่ใช้งานได้จริง หรือส่งมาให้ครบถ้วน บ่อยครั้งที่เหยื่อจ่ายเงินแล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับ หรือได้รับรหัสที่ใช้งานไม่ได้
- เสี่ยงต่อการถูกโจมตีซ้ำ: การจ่ายค่าไถ่แสดงให้ผู้โจมตีเห็นว่าองค์กรของคุณยินดีจ่ายเงิน ซึ่งอาจนำไปสู่การตกเป็นเป้าหมายซ้ำในอนาคต หรือถูกแชร์ข้อมูลให้กลุ่มแฮกเกอร์อื่นโจมตีต่อ
- สนับสนุนอาชญากรรมไซเบอร์: เงินค่าไถ่จะถูกนำไปใช้พัฒนาเครื่องมือโจมตีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และขยายเครือข่ายอาชญากรรม ทำให้การโจมตีด้วย Ransomware เพิ่มขึ้นและสร้างความเสียหายในวงกว้าง
- อาจผิดกฎหมาย: ในบางประเทศ การจ่ายค่าไถ่ให้กับกลุ่มอาชญากรอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะถ้ากลุ่มผู้โจมตีอยู่ในรายชื่อองค์กรต้องห้ามหรือกลุ่มก่อการร้าย
วิธีป้องกัน Ransomware สามารถเตรียมรับมืออย่างไรได้บ้าง?
การเตรียมพร้อมและวางมาตรการป้องกัน Ransomware เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการสูญเสียข้อมูลสำคัญ โดยมีวิธีป้องกันเบื้องต้น ดังนี้
- ติดตั้งและอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโปรแกรมป้องกันไวรัสและมัลแวร์ รวมถึงระบบปฏิบัติการและโปรแกรมต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด
- จัดทำระบบสำรองข้อมูล (Backup) และเก็บไว้ในอุปกรณ์แยกที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบหลัก เช่น Cloud Storage เพื่อให้สามารถกู้คืนข้อมูลได้หากถูกโจมตี
- แยกเครือข่ายออกเป็นส่วน ๆ (Network Segmentation) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายของมัลแวร์ หากส่วนใดถูกโจมตีจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบทั้งหมด
- กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงอย่างเข้มงวด จำกัดสิทธิ์ผู้ใช้งานให้เหมาะสมกับหน้าที่ และควบคุมการติดตั้งโปรแกรมหรือการเข้าถึงเว็บไซต์
- ติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์ภัยคุกคามที่ตรวจจับและป้องกันการโจมตีในเชิงลึก รวมถึงระบบ Sandbox สำหรับทดสอบไฟล์ที่น่าสงสัยก่อนเปิดใช้งานจริง
- จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการระมัดระวังการคลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์แนบจากอีเมลที่ไม่น่าเชื่อถือ
สรุป Ransomware คือ ภัยไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายได้ภายในชั่วพริบตา
Ransomware คือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กรอย่างมาก โดยแฮกเกอร์จะเข้ารหัสข้อมูลสำคัญและเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับรหัสปลดล็อก ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือการมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้
โดย NT (National Telecom) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความปลอดภัย รับประกันคุณภาพด้วย SLA สูงถึง 99.80% พร้อมระบบป้องกัน DDoS Attack มีการแยกช่องสัญญาณระหว่างลูกค้าองค์กรและทั่วไป ครอบคลุมทั้งการเชื่อมต่อในประเทศและต่างประเทศผ่านเครือข่ายที่น่าเชื่อถือ พร้อมทีมงานดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
และเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรของคุณมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพียงร่วมทำแบบประเมินความปลอดภัยของระบบเครือข่ายองค์กร (Security Assessment) ฟรี เพียง 6 ข้อ ใช้เวลาไม่เกิน 7 นาที คุณจะได้ทราบถึงจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุงในการรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายองค์กร คลิกเพื่อทำแบบทดสอบ
สนใจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับธุรกิจจาก NT ติดต่อได้ที่
- Facebook : NT shop กรุงเทพและปริมณฑล
- Line@ : @NTSMESolutionBKK
- Tel: 02-575-5151
References
Dansimp. (n.d.). Human-operated ransomware. Learn.microsoft.com. https://learn.microsoft.com/en-us/security/ransomware/human-operated-ransomware
Fortinet. (n.d.). What Is Ransomware? | Definition, Types & How It Works. Fortinet. https://www.fortinet.com/resources/cyberglossary/ransomware
National Cyber Security Centre. (2023). A Guide to Ransomware. https://www.ncsc.gov.uk/ransomware/home