<link rel="stylesheet" id="astra-theme-css-css" href="https://nt-metro-service.com/wp-content/themes/astra/assets/css/minified/frontend.min.css?ver=4.8.1" media="all">

จัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง

            เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า สายต่าง ๆ ที่ระโยงรยางค์ระหว่างเสาไฟฟ้าแต่ละต้นนั้นประกอบไปด้วยสายอะไรบ้าง และแต่ละสายมีความสำคัญอย่างไร นอกจากสายไฟฟ้าแล้วสายต่าง ๆ ประกอบไปด้วย สายโทรศัพท์ สายอินเทอร์เน็ต สายเคเบิ้ลทีวี และสายระบบ CCTV ยิ่งสำหรับคนในเมืองด้วยแล้วภาพเช่นนี้ดูจะเป็นภาพที่มีอยู่ทั่วไปและคุ้นเคยกันมานานจนไม่มีใครสนใจว่า สายเหล่านี้ควรจะต้องมีการจัดระเบียบให้สวยงามหรือไม่ และประการสำคัญที่สุด สายไฟฟ้าเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ หรือไม่ [1] 

            ในเขตเมืองที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นเช่นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเติบโตด้านเศรษฐกิจ จะมีการวางโครงข่ายการสื่อสารของหลาย ๆ บริษัท ในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อรองรับการใช้งานในปริมาณที่มาก อีกทั้งมีการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของประชาชน แต่ด้วยสายสื่อสารที่มีจำนวนมากทำให้ภูมิทัศน์ของบริเวณนั้นดูไม่เป็นระเบียบและไม่สวยงาม รวมทั้งยังไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย ดังนั้น จึงได้มีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ให้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดิน เพื่อเป็นการรองรับปริมาณความต้องการใช้งานของประชาชน และจัดให้เกิดทัศนียภาพของเมืองที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่สูงขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ [2] 

            สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กำหนดแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ รวมถึงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ภายในระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) โดยแบ่งเป็นระยะ ดังนี้ [3]

            1. การจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปี 2565 ระยะทาง 456 กิโลเมตร (กม.) หลังจากนั้นดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กิโลเมตร

            2. การจัดระเบียบสายสื่อสารตามแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยได้กำหนดรายละเอียดเส้นทางจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำหรับปี 2565-2567 ไว้รวมระยะทาง 6,000 กม. หรือ ประมาณปีละ 2,000 กม. และจะมีการกำหนดรายละเอียดของแต่ละเส้นทางอีกครั้งหนึ่ง

            ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำการแก้ไขคือ การจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางหลักที่ไม่เป็นระเบียบให้มีการใช้โครงสร้างร่วมกัน เพื่อเป็นการลดจำนวนการพาดสาย ส่วนการแก้ไขในระยะยาวที่เป็นรูปธรรมคือ จะมีการจัดระเบียบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Single Last Mile มาใช้ในการจัดระเบียบการสื่อสาร เพื่อลดจำนวนสายสื่อสารปลายทาง ซึ่งรูปแบบ Single Last Mile จะเป็นการกำหนดให้หน่วยงานผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของโครงข่ายสายปลายทางที่มีเพียงรายเดียว (Single Last Mile Provider) [1]

NT นำร่อง Single Last Mile

            ในการจัดระเบียบสายสื่อสารเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมสวยงาม และเกิดความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถแบ่งการจัดระเบียบสายสื่อสารได้ 2 ประเภท ดังนี้ [4] 

            1. การยุบขนาดพร้อมแขวนใหม่ตามระเบียบการไฟฟ้า คือ ผู้ประกอบกิจการสื่อสารแต่ละรายจะต้องทำการตรวจสอบสายสื่อสารของตนเองว่า กลุ่มสายสื่อสารใดที่ไม่มีการใช้งานในปัจจุบัน เช่น สายสื่อสารที่มีการตัดถ่ายจากสายทองแดงเป็นไฟเบอร์ เป็นต้น และเมื่อทำการตรวจสอบสภาพสายพร้อมยืนยันการใช้งานแล้ว ผู้ประกอบการฯ ที่เป็นเจ้าของสายสื่อสารนั้นจะต้องดำเนินการยกรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ได้มีการใช้งานแยกออกจากมัดสายสื่อสารเดิมทั้งหมด รวมทั้งปรับปรุงลดจำนวนสายสื่อสารและเปลี่ยนสายสื่อสารทองแดงเป็นแบบชนิดไฟเบอร์ออฟติก ติดตั้งใหม่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมใช้งานและแขวนคืนกลับตามมาตรฐานการจัดระเบียบของการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค

            2. การใช้สายสื่อสารร่วมกันของผู้ประกอบการ หรือที่เรียกกันว่า “Single Last Mile” คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ให้เป็นผู้ดำเนินการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างของสายสื่อสารทั้งหมด พร้อมทั้งต้องรองรับปริมาณการใช้งานในปัจจุบันของผู้ใช้บริการทุกราย รวมทั้งต้องสามารถรองรับปริมาณการใช้งานในอนาคตให้เพียงพอกับความต้องการอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการแบบ Single Last Mile นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนในมุมของการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการให้บริการของผู้ประกอบการโดยรวมที่ลดลง เพราะการแชร์ใช้งานร่วมกัน

            บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย ที่มีการให้บริการแบบ Single Last Mile แบบครบวงจร ทั้งแบบฝั่งท่อลงใต้ดิน และแขวนบนเสาไฟฟ้า ได้รับความไว้วางใจจากรัฐให้ทำงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อบูรณาการการทำงานจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าในเส้นทางหลักทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า [1] ซึ่งในปัจจุบันมีเส้นทางที่ดำเนินการแบบ Single Last Mile ด้วยกัน 5 เส้นทาง ได้แก่ ถนนข้าวสาร (กทม.) ถนนนาคนิวาส (กทม.) ถนนอุดรดุษฎี (อุดรธานี) ถนนพัทยาเหนือ (พัทยา) และถนนพัทยากลาง (พัทยา) ทั้งนี้ยังมีอีกหลายเส้นทางที่ NT อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการในอนาคตเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

Single Last Mile จัดระเบียบสายสื่อสารได้แม้ในพื้นที่เฉพาะ

            จากข้อมูลที่ได้กล่าวมา ได้เริ่มมีการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบ Single Last Mile ในเส้นทางต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกันไปบ้างแล้ว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการจัดระเบียบสายสื่อสารจะเป็นการดำเนินการในเส้นทางสาธารณะ และตามริมถนนสายหลัก แต่ในความเป็นจริงการจัดระเบียบสายสื่อสารสามารถดำเนินการในลักษณะ “พื้นที่เฉพาะ” ได้อีกด้วย 

            NT ได้จัดให้มีบริการจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย Single Last Mile ที่สามารถให้บริการทั้งในสถานที่สาธารณะและสถานที่ส่วนบุคคลที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น สวนสาธารณะ วัด สถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด หมู่บ้าน หรือจุดสำคัญในการท่องเที่ยว (Landmark) เป็นต้น ซึ่งการจัดระเบียบสายสื่อสารจะก่อให้เกิดความสวยงามด้านทัศนียภาพ ความปลอดภัยของทรัพย์สินและชีวิต รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาในภาพรวมได้อีกด้วย โดยทาง NT ได้ให้บริการจัดระเบียบสายสื่อสารด้วย Single Last Mile ในพื้นที่เฉพาะแล้วหลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร 
อาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง เกียกกาย เป็นต้น 

            ผู้ที่สนใจต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใน หรือมีโครงการที่จะต่อเติมการก่อสร้าง สามารถติดต่อ NT เพื่อขอรับการปรึกษาฟรี และขอรายละเอียดเพิ่มเติมในการใช้บริการ Single Last Mile ได้ที่ช่องทาง Facebook Page : NT shop กรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดต่อผ่านเว็บไซต์ https://nt-metro-service.com/ หรือติดต่อผ่านช่องทาง ID LINE @NTSMESolutionBKK

แหล่งอ้างอิง
[1] https://www.bangkokbiznews.com/tech/978079
[2] https://bit.ly/3Bq5o87 
[3] https://www.posttoday.com/economy/news/671105
[4] https://antique-way-71f.notion.site/Single-Last-Mile-6876a85355944801aec5ab1bcad3ed32

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup