ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ไฟฟ้า อย่างระบบ smart grid ที่ได้ถูกคิดค้นมานานตั้งแต่ยุคแอนะล็อกเป็นระบบควบคุมการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพียงแต่เทคโนโลยีในสมัยนั้นยังไม่เอื้ออำนวย เมื่อมาถึงยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ระบบ smart grid เริ่มเป็นจริงขึ้นมาได้ โดยแต่ละประเทศในยุโรปมีการใช้ระบบนี้กันอย่างแพร่หลาย และในไทยเองก็เริ่มมีโครงการนำร่องในบางพื้นที่แล้ว วันนี้ NT National Telecom จะขอพามาทำความรู้จักว่า smart grid คืออะไร? และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ในบทความนี้
Smart Grid คือ
สมาร์ทกริด (smart grid) คือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการควบคุม หรือหากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แล้วนั้น smart grid เป็นระบบไฟฟ้าที่มีความอัจฉริยะในการผลิต ส่งออก จ่ายพลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่กลับมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Doing more with Lass)
ด้วยความอัจฉริยะของ smart grid จะเปลี่ยนรูปโฉมโครงข่ายไฟฟ้าในเมืองนั้นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ทำให้มีระบบบริหารการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ทันสมัย รองรับทุกความต้องการทั้งภาคครัวเรือน หรือภาคอุตสาหกรรม มีไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน แก้ปัญหาไฟดับได้เร็วขึ้น พร้อมเป็นพื้นฐานในการทำให้เมืองก้าวเข้าสู่ smart city หรือเมืองอัจฉริยะในอนาคต
Smart Grid จำเป็นอย่างไร
ในปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าเป็นการรับกระแสไฟฟ้าทางเดียวจากโรงผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ โดย Smart grid จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ในฤดูกาลที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีสภาพอากาศที่ต่างกัน ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าก็ต่างกันด้วย smart grid จะเข้ามาช่วยทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีความสมดุลมากขึ้น ไฟฟ้าจะไม่ดับเมื่อมีความต้องการใช้พร้อมกันมาก
- แหล่งเชื้อเพลิง หรือแหล่งชุมชนอยู่ห่างไกลจากโรงผลิตไฟฟ้ามาก จนทำให้ต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปในระยะทางที่ไกล หรือแหล่งเชื้อเพลิงเหลือน้อยมีราคาแพง พลังงานทดแทนจากระบบ smart grid จะช่วยทำให้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการ
- ความแตกต่างในความต้องการใช้ไฟฟ้า ในช่วงกลางวันและกลางคืนของเมืองอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ระบบ smart grid จะเข้ามาช่วยคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลา และสร้างระบบการจ่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของ Smart Grid
อย่างที่ทราบกันดีว่า smart grid เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่ทำให้มีการประหยัดทรัพยากรแต่ยังเต็มไปด้วยประสิทธิภาพในการทำงานที่ยั่งยืน จึงทำให้ประโยชน์ของ smart grid นั้นครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งได้แก่
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ระบบโครงข่ายไฟฟ้า smart grid รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเมื่อแหล่งพลังงานกำลังจะหมดไป โดยพลังงานหมุนเวียนจะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้อย่างยั่งยืน
- smart grid ยังเป็นระบบที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพราะมีระบบการตรวจวัดหรือเซนเซอร์ตรวจจับพฤติกรรมการใช้พลังงาน ทำให้ระบบสามารถจัดการการจ่ายไฟฟ้าในปริมาณที่เหมาะสมได้
- ทำให้เกิดความปลอดภัยขึ้นในชุมชนที่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมทุกครัวเรือน โดยโครงข่ายที่ส่งและรับไฟฟ้าได้ จะช่วยให้ผู้คนใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย และเข้าถึงไฟฟ้าได้ตลอดเวลาแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
- ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้เทคโนโลยีที่จะใช้ในระบบ smart grid จะช่วยทำให้ใช้ไฟฟ้าได้ประหยัดขึ้นอีกด้วย
ด้านระบบไฟฟ้า
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การบริการระบบไฟฟ้า สามารถมองเห็นปัญหาและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยกันอย่างผสมผสาน ไม่ใช่เพียงแค่การบริการจ่ายไฟฟ้าแค่อย่างเดียว
- smart grid รองรับระบบแบบกระจายศูนย์ โดยไม่ต้องพึ่งพาการจ่ายไฟฟ้าจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทำให้มีความสะดวกรวดเร็วในการแก้ปัญหามากขึ้น
- มีระบบที่บริหารจัดการการพลังงานทั้งการผลิต การส่งออก การใช้พลังงานที่เหมาะสม ด้วยเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พัฒนา พร้อมใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้จัดการการจ่ายไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น
- หากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถกลับมาใช้พลังงานได้ใหม่ภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลาง เมื่อเกิดไฟฟ้าดับก็สามารถนำไฟฟ้าสำรองในบริเวณใกล้เคียงมาทดแทนได้
- มีระบบที่ช่วยกักเก็บพลังงาน ทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ระบบ smart grid จะทำให้มีการไหลของกระแสไฟฟ้ามากกว่า 1 ทิศทาง เมื่อผลิตไฟฟ้าได้เกินความจำเป็นก็จะสามารถกักเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินได้
ด้านเศรษฐกิจ
- ช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่าย ความเสียหายทางเศรษฐกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ เมื่อมีไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ สามารถนำออกมาใช้ได้ในยามเกิดเหตุไฟฟ้าดับ โดยไม่ต้องรอการแก้ไขจากส่วนกลาง
- ช่วยให้การทำงานของภาคอุตสาหกรรมเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้า จะช่วยให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากก็จะมีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ
ระบบไฟฟ้าปัจจุบันกับ Smart Grid ต่างกันอย่างไร
แม้ว่า smart grid จะเป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีประโยชน์มากมาย แต่หลายท่านก็เกิดความสงสัยไม่น้อยว่า แล้ว smart grid มีความแตกต่างจากระบบไฟฟ้าปัจจุบันอย่างไรบ้าง
โดยความแตกต่างของระบบไฟฟ้าทั้งสองแบบนั้น หากจะกล่าวให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายเลยก็คือ ระบบไฟฟ้าปัจจุบันเป็นระบบที่มีกระแสไฟฟ้าที่ไหลไปในทิศทางเดียว โดยจะเริ่มตั้งแต่การผลิต ไปสู่การส่งไฟฟ้าจนถึงการจำหน่ายสู่ผู้ใช้งาน หรือสรุปง่ายๆ ก็คือโรงไฟฟ้าไปสู่ครัวเรือน
ในขณะที่ smart grid เป็นระบบที่มีการไหลของกระแสไฟฟ้าไปในลักษณะสองทิศทาง หรือแบบกระจาย ซึ่งจะทำให้เกิดการรับส่งไฟฟ้ากันอย่างเป็นระบบ หรือบางครัวเรือนที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ เมื่อมีพลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็นก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ ทำให้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลางเพียงแหล่งเดียว
ตัวอย่าง Smart Grid
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ระบบ smart grid ได้ถูกนำมาใช้แพร่หลายในยุโรป หรืออาจจะรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชียบางประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น แม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีโครงการ smart grid ตัวอย่างนำร่องในเขตพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะช่วยให้โครงข่ายระบบไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาที่แตกต่างกัน ได้รับการพัฒนาและแก้ไขได้อย่างตรงจุด โดยมีโครงการ smart grid ตัวอย่างในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น
โครงการ Smart Grid พัทยา
พื้นที่เมืองพัทยามีความเหมาะสมต่อการนำร่องโครงข่ายระบบ smart grid เนื่องจากเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ทั้งภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน หรือภาคครัวเรือนก็มีประชากรอยู่มาก กระจายอยู่ทั้งบนแผ่นดินและบนเกาะ เหมาะสำหรับการทดสอบเทคโนโลยีหลายอย่างในระบบ smart grid ให้ทำงานควบคู่กัน
การนำร่องโครงข่ายระบบ smart grid ในเมืองพัทยาถือว่าเป็นการเริ่มต้นใช้ระบบ smart grid เป็นที่แรก เนื่องจากมีระบบพื้นฐานที่พร้อมใช้งาน ซึ่งระบบ smart grid จะช่วยให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าของเมืองเสถียรขึ้น แก้ปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องได้ดียิ่งขึ้น วางแผนการผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น และส่งเสริมต่อยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเป็นที่นิยมในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการวางรากฐานให้เมืองพัทยาก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายที่วางเอาไว้
โครงการ Smart Grid แม่ฮ่องสอน
ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและป่าไม้จำนวนมาก ทำให้มีแหล่งที่อยู่ชุมชนมีการกระจายตัวอยู่ห่างกัน ต้องพึ่งพาระบบส่งไฟฟ้าจากส่วนกลาง ที่อยู่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง
จึงได้มีการพัฒนาระบบนำร่อง smart grid เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่กระจายตัวอยู่ภายในจังหวัดให้มาเชื่อมต่อกัน ทั้งไฟฟ้าจากเขื่อน จากโรงงานผลิตไฟฟ้าดีเซล หรือไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ จนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ภายในจังหวัด และไม่เกิดปัญหาเมื่อระบบไฟฟ้าของส่วนกลางขัดข้อง โดยแบ่งเป็นในพื้นที่อำเภอเมือง ที่เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ และในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงที่เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก แล้วนำทั้งสองโครงข่ายนี้มาเชื่อมต่อกัน เพื่อให้เกิดระบบจ่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ
สรุปเรื่อง Smart Grid
ระบบ smart grid ยังเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจมีเพียงบางพื้นที่ ที่เป็นโครงการต้นแบบเมื่อทดลองทำดูแล้วก็เกิดผลดีทั้งในผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานเป็นอย่างมาก ด้วยข้อดีของ smart grid เอง ที่นอกจากจะยกระดับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าดีขึ้นแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามนอกจากความรู้เรื่อง smart grid แล้ว NT ยังมีบริการ เน็ตองค์กร และ อินเทอร์เน็ตโรงเรียน เพื่อตอบสนองการใช้งานในหลายๆ ด้านไปควบคู่กัน หากสนใจสามารถติดต่อได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
Website: https://nt-metro-service.com/
Facebook: NT shop กรุงเทพและปริมณฑล
Line: @NTSMEsolutionBKK
Tel: 02-575-5151