Smart Living

Smart Living คืออะไร เทคโนโลยีใดบ้าง ที่ช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตคนในปัจจุบัน

แต่เดิมแล้วมนุษย์เรามีรูปแบบการใช้ชีวิตด้วยระบบแมนนวล (Manual) ซึ่งจะเป็นการสั่งการ หรือกำหนดด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการก่อไฟเพิ่มแสงสว่างและความอบอุ่น หรือการกดปุ่มเปิด-ปิดสวิตช์ด้วยตนเอง แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเพิ่มคุณภาพในการดำรงชีวิตหรือที่รู้จักในชื่อ “Smart Living” 

ประโยชน์ของ Smart Living ไม่จำกัดเพียงแค่ความสะดวกเท่านั้น แต่ยังตามมาด้วยความปลอดภัย การใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ซึ่ง ณ ตอนนี้ระบบ Smart Living ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราไม่มากก็น้อยโดยที่หลายคนก็อาจไม่ทันรู้ตัว

ในบทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการใช้ชีวิตแบบ Smart Living คืออะไร มีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง เหตุใด Smart Living จึงสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของเราได้ และระบบ Smart Living ในปัจจุบันมีตัวไหนที่น่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย



ชีวิตแบบ Smart Living คืออะไร? 

หากให้แปลตรงตัว การใช้ชีวิตแบบ Smart Living คือวิถีการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายถึงเราจะต้องเป็นอัจฉริยะแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกนั่นเอง 

ซึ่ง Smart Living จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากระบบแมนนวลที่อาจมีความผิดพลาดจากมนุษย์ (Human error) มาเป็นระบบออโตจากการตั้งค่าผ่านอุปกรณ์หรือเครือข่ายที่จะเข้ามาลดความผิดพลาดตรงนี้ลงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ สะดวกสบาย ปลอดภัย และมีความคุ้มค่าที่สุด

ในปัจจุบัน Smart Living ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ที่เห็นได้บ่อย ๆ ในขณะนี้คือการนำมาใช้กับที่อยู่อาศัยหรือ Smart Home โดยอาจมีการกล่าวว่าเป็นบ้านแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย และการนำ Smart Living มาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในเมือง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Smart Building ตัวช่วยทีช่วยพัฒนาเมืองให้เป็น Smart Living


Smart Living สู่ Smart City ยกระดับเมืองคุณภาพด้วยเทคโนโลยี

พัฒนาเมืองด้วย Smart Living

ในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด มนุษย์ได้เริ่มใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อการบริหารและจัดการเมืองอย่างมีคุณภาพจึงได้นำ Smart Living เข้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น ในหัวข้อนี้เราจะมายกตัวอย่าง Smart Living ที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ เข้าใกล้นิยามเมืองอัจฉริยะ Smart City ยิ่งขึ้น

>>อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเทคโนโลเพื่อการผลิตไฟฟ้ามาใช้ได้ที่ “Smart Grid

ระบบการแพทย์ทางไกล (DMS Telemedicine) 

ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล, การเข้าถึงโรงพยาบาลที่ยากลำบาก, ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน นอกจากนี้ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำให้แพทย์ต้องรับผู้ป่วยมากเกินความจำเป็นและทำให้แพทย์ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุม

Smart Living ทางการแพทย์อย่าง DMS Telemedicine หรือระบบแพทย์ทางไกลเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยได้พูดคุยแบบ Real-Time แพทย์สามารถประเมิน วินิจฉัยและแนะนำการรักษาผ่านช่องทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องพบหน้ากันตรง ๆ ไม่ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแพทย์แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงโรงพยาบาล, ลดความแออัดในโรงพยาบาล และที่สำคัญที่สุดยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อใหม่หรือการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้อีกด้วย 

รถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย Smart School Bus

ในประเทศไทยมีเหตุการณ์สูญเสียเยาวชนจากการถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถตามลำพังไม่น้อย โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จึงได้มีโครงการรถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัยหรือ Smart School Bus ขึ้น 

Smart School Bus หรือรถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัยนี้เป็นหนึ่งในการส่งเสริม Smart Mobility โดยจะมีการติดตั้ง GPS หรือระบบติดตามเพื่อติดตามตำแหน่งของรถและผู้โดยสารเด็กภายในรถแบบ Real-Time อีกทั้งยังมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยประมวลผลสถานะต่าง ๆ ภายในรถโรงเรียนนี้ โดยเราสามารถติดตามสถานะต่างๆ  ได้ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนได้ตลอดเวลา 

Smart School Bus นับเป็นอีกหนึ่ง Smart Living ที่นำเทคโนโลยีและระบบ AI มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

เครื่องดักจับคาร์บอน โดยเยาวชนไทย 

เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังประสบปัญหากับต้นทุนที่สูงจนเกิดความไม่คุ้มค่าในด้านอุตสาหกรรม จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายมากขึ้น 

ในประเทศไทยเองก็มีนักประดิษฐ์เยาวชนที่พัฒนาแบบจำลองเครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซต์และเปลี่ยนให้เป็นพลังงานหมุนเวียน และยังสามารถดักจับฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย

หากเครื่องดักจับคาร์บอนนี้ถูกพัฒนาให้นำมาใช้งานได้จริงก็จะเป็นอีกหนึ่ง Smart Living ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ที่จะพาเข้าสู่ Smart City ได้อย่างยั่งยืน

>> อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ที่ “Smart Environment

ระบบขนส่งไร้คนขับ

ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการนำระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตมากขึ้น โดยประโยชน์หลัก ๆ ของ Smart Living นี้คือการเพิ่มความสะดวกสบายขณะขับรถและลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจาก human error ได้อีกด้วย

แอปพลิเคชันดูแลสุขภาพ

ในปัจจุบันสังคมไทยเราเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการนำเสนอนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน Thailand Smart Living เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิต 

โดยนวัตกรรมนี้คือหนึ่งใน Smart Hospital ที่จะมีฟังก์ชันการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามสถานะด้านสุขภาพและรายงานผลประจำวัน, การเรียนรู้ลักษณะการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน, การตรวจนับการออกจากที่พักอาศัยและการแจ้งเตือนหากเกิดอุบัติเหตุเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด


Smart Living ที่บ้าน (Smart Home) เพิ่มความสะดวกและปลอดภัย

Smart Home

Smart Home หรือ Smart Living ภายในที่อยู่อาศัยเป็นการเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ในบ้านไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัย หรือระบบเซอร์วิสต่าง ๆ ที่เป็นระบบอัตโนมัติมารวมกันในลักษณะของโครงข่ายและมีส่วนศูนย์กลางที่คอยประมวลผลและตอบสนองในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งยังต้องสามารถเข้าถึงการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกอีกด้วย

สำหรับนิยามของ Smart Home ที่เป็นสากลนั้นจะต้องมีโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนดังนี้

Intelligent Control System

Intelligent Control System เปรียบเสมือนมันสมองของระบบ Smart Home ซึ่งเป็นระบบควบคุมอัจฉริยะ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ภายในบ้านเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นระบบและแสดงผลลัพธ์ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

Smart Home Network

Smart Home Network หรือระบบเครือข่ายอัจฉริยะเปรียบเสมือนระบบประสาทของระบบ Smart Home ทำหน้าที่เป็นตัวกลางคอยรับสัญญาณจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านและส่งไปยัง Intelligent Control System จากนั้นจึงส่งสัญญาณไปสั่งให้อุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ตอบสนองต่อคำสั่งของผู้ใช้งาน

Home Automation Device

Home Automation Device หรืออุปกรณ์อัจฉริยะ เปรียบเสมือนอวัยวะต่าง ๆ ของระบบ Smart Home โดยอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะมีหน้าที่แสดงผลลัพธ์ตามคำสั่งของผู้ใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์อัจฉริยะที่นิยมใช้ใน Smart Home มีดังนี้

  • Cleaning Robot : หุ่นยนต์ทำความสะอาด ซึ่งจะช่วยทำความสะอาดพื้นที่ภายในบ้านได้เองโดยที่เราไม่ต้องถือเครื่องดูดฝุ่นหรือกวาดไม้กวาดแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
  • Smart refrigerator : ตู้เย็นอัจฉริยะ ซึ่งอาจมีฟังก์ชันที่คอยอัปเดตสถานะภายในตู้เย็น เช่น อุณหภูมิ แสดงจำนวนของที่อยู่ในตู้เย็น โหมดประหยัดพลังงาน และอาจมีการผสานกับอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้ตู้เย็นเป็นมากกว่าตู้เย็น เช่น สามารถเชื่อม WiFi ซื้อของสดเข้าตู้เย็นแบบออนไลน์ มีจอ LED สำหรับดู Youtube เป็นต้น 
  • Auto Light Switch : ระบบเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ ซึ่งจะมีเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของเรา เมื่อพบการเคลื่อนไหวระบบไฟก็จะเปิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องกดปุ่มเปิด และไฟก็จะดับเองเมื่อเซนเซอร์ไม่พบการเคลื่อนไหว เพิ่มความสะดวกสบายและยังช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย
  • Security system : ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Smart Living ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า ไม่เพียงแต่จะมีการบันทึกภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถดูภาพกล้องวงจรปิดแบบ Real-Time และยังมีระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวอีกด้วย

ประโยชน์ของ Smart Living คือ?

มาดูกันว่า Smart Living มีประโยชน์ต่อมนุษย์เราอย่างไรบ้าง

ช่วยเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิต

Smart Living จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเพื่อทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพขึ้น เช่น กล้องวงจรปิดที่สามารถดูผ่านสมาร์ตโฟนแบบ Real-Time, ระบบเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว, ระบบเตือนภัย และยังสามารถติดต่อไปยังสถานีตำรวจในกรณีที่เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ทันทีแม้ว่าตัวคุณจะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ตาม

ความสะดวกสบาย

อุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ของ Smart Living จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งที่พบเห็นในปัจจุบันนั้นมักจะเป็นเครื่องมือที่สามารถทำงานได้เองเพียงฟังคำสั่งจากเสียงเรา, จากการตรวจจับการเคลื่อนไหว หรือจากการควบคุมผ่านรีโมท เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด, ระบบเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ, ประตูอัตโนมัติ เป็นต้น

การดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

Smart Living ช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่นการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อลดภาระหน้าที่หนึ่งทำให้คุณสามารถนำเวลาตรงนี้ไปทำอีกหน้าที่หนึ่งได้มากขึ้นหรือเพื่อให้คุณได้พักผ่อนได้มากกว่าเดิม

ดูแลและควบคุมสุขภาพ

ปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์อัจฉริยะที่สามารถตรวจและอัปเดตสถานะของร่างกาย หากพบความผิดปกติก็จะแจ้งเตือนถึงปัญหาทางสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจจับการล้ม เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะแจ้งไปยังผู้ปกครอง ผู้ดูแล หรือโรงพยาบาลเพื่อให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

รักษาสิ่งแวดล้อม

Smart Living เป็นการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาดขึ้นและยังลดการสร้างมลภาวะอีกด้วย

ประหยัด ลดต้นทุน

Smart Living จะเข้ามาช่วยให้ทุกการใช้งานทรัพยากรเต็มเปี่ยมไปด้วยความคุ้มค่า ลดการใช้พลังงาน ประหยัดพลังงานได้ดี


จุดด้อยของ Smart Living

อย่างไรก็ตามระบบ Smart Living ในปัจจุบันก็ยังมีจุดด้อยที่ทำให้หลายคนยังไม่มีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้อยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น

  • Smart Living บางอย่างยังจำเป็นต้องใช้ระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หากวันใดวันหนึ่งเกิดเน็ตล่มอาจทำให้ระบบ Smart Living ใช้งานไม่ได้
  • Smart Living ยังต้องใช้ระบบไฟฟ้า เช่นเดียวกันกับข้อแรก หากไฟฟ้าดับ ขัดข้องใด ๆ ก็ส่งผลให้ระบบ Smart Living ไม่สามารถใช้งานได้
  • ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เนื่องจากระบบ Smart Living อาจมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา ภาพถ่ายใบหน้า ซึ่งข้อมูลอัตลักษณ์เหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกไปได้
  • ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากอุปกรณ์อัจฉริยะหลายอย่างไม่มีการเข้ารหัส จึงมีความเสี่ยงที่อาจถูกแฮกเกอร์โจมตีและทำให้ถูกโจรกรรมข้อมูล หรืออาจทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยไม่ทำงานอันเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
  • Smart Living ราคาแพง เนื่องจาก Smart Living มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งยังคงมีต้นทุนที่สูงในปัจจุบัน  

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Smart Living

Smart Living เกี่ยวข้องกับ IOT หรือไม่?

Smart Living คือการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดย IOT หรือ Internet Of Things จะเข้ามามีบทบาทกับอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อการรับส่งสัญญาณและตอบสนอง แต่อย่างไรก็ตาม Smart Living ไม่ได้จำกัดแค่การใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายและมีคุณภาพที่ดีขึ้น

Smart Living มีความสำคัญอย่างไรต่อ Smart City?

เพราะการที่จะพัฒนาให้เมืองกลายเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City นั้นจะต้องมีการบริหารและการจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาด โดย Smart Living ที่เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะนั้นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชนในเมืองมีความสุขอย่างยั่งยืน


สรุป Smart Living สำคัญอย่างไร

Smart Living นั้นเป็นการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน โดย Smart Living หลายอย่างจำเป็นต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย รวดเร็ว เพื่อให้อุปกรณ์อัจฉริยะสามารถทำงานได้เป็นปกติ 

ที่ NT National Telecom เรามีบริการ NT Broadband รับวางระบบ network รับเดินสายไฟเบอร์ออฟติกแท้ 100% สัญญาณดี ไม่สะดุด ให้ Smart Living ทำได้ไหลลื่น ไม่ติดขัด สนใจติดต่อเราได้ที่


References 

แนวทางการใช้ DMS Telemedicine กรมการแพทย์. (2566, พฤษภาคม 2). กรมการแพทย์. https://www.dms.go.th/backend//Content/Content_File/Publication/Attach/25660502130652PM_%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%20(2%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B266).pdf

depa x กรมการขนส่งทางบก หารือแนวทางการขยายผลโครงการ Smart School Bus. (ม.ป.ป.). สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa). https://www.depa.or.th/th/article-view/depa-x-smart-school-bus

Yasar, K. (n.d.). Smart Home. TechTarget. https://www.techtarget.com/iotagenda/definition/smart-home-or-building#:~:text=A%20part%20of%20the%20internet,Eye%20on%20Tech

Scroll to Top
nt-business-solution-expert Popup